จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
มกราคม 15, 2025, 06:14:59 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อเมืองกำแพงเพชร (ปาฐกถา  (อ่าน 7740 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1445


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: พฤศจิกายน 27, 2023, 09:40:20 pm »

พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อเมืองกำแพงเพชร (ปาฐกถาพิเศษอังคาร ๑๘ มิย. ๖๒ ห้องประชุมอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร)
                                                                                                                                 สันติ อภัยราช
เมื่อข้าพเจ้าไปเมืองกำแพงเพชรครั้งแรก คือแวะเมื่อล่องกลับจากเชียงใหม่ ร.ศ. ๑๒๔ นั้น ได้พักอยู่ ๓ คืน ๒ วัน ได้เที่ยวดูในเมืองเก่าและตามวัดที่นอกเมืองบ้าง แต่ในเวลานั้นต้องนับว่ายังอ่อนอยู่มากในทางโบราณคดี คือยังไม่ใคร่ได้มีโอกาสตรวจค้นมาก ทั้งเวลาที่อยู่ก็น้อย และเป็นคนแรกที่ได้ไปดู จะอาศัยฟังความคิดความเห็นผู้ใดๆก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความเห็นในเวลานั้นจึงยังไม่กล้าแสดงให้แพร่หลายมากนัก เป็นแต่ได้ทำรายงานกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามที่ได้สังเกตเห็นด้วยตา และแสดงความเห็นส่วนตัวบ้างเล็กน้อย ภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประพาสเมืองกำแพงเพชร ทอดพระเนตรสถานต่างๆแล้ว พระราชทานพระบรมราโชวาทเป็นอันมาก ครั้นเมื่อได้ทราบกระแสพระราชดำริแล้ว เมื่อปลาย ร.ศ. ๑๒๖ ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปตรวจดูสถานที่ในเมืองกำแพงเพชรซ้ำอีก จึงเห็นทางแจ่มแจ้งดีกว่าครั้งแรกเป็นอันมาก
 
พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

ข้อความข้างต้นเป็นข้อความตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง ของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยในการศึกษาค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีอย่างยิ่ง ได้เสด็จประพาสเมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร พิชัยและพิษณุโลกเพื่อทอดพระเนตรโบราณสถาน โบราณวัตถุระหว่างวันที่ ๔ มกราคม - ๖ มีนาคม รศ. ๑๒๖ (พ.ศ.๒๔๕๐) และโปรดฯ ให้จัดพิมพ์พระราชนิพนธ์เรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” ซึ่งทรงบันทึกเรื่องราวระยะทางเสด็จประพาสในคราวนั้นพร้อมพระราชวิจารณ์ในแง่ประวัติศาสตร์และโบราณคดี ก่อให้เกิดกระแสตื่นตัวในการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทยในเวลานั้นอย่างมาก
ในส่วนของเมืองกำแพงเพชร   พระองค์ ทรงเสด็จมากำแพงเพชร สองครั้ง หลักฐานจากจารึกวงเวียนต้นโพ หลักที่ ๒๓๙    สร้างจาก หินปูนสีเทา กว้าง ๗๘ เซนติเมตร สูง ๑๒๖ เซนติเมตร หนา ๘ เซนติเมตร เป็นรูปใบเสมา   จารึกด้านเดียว มี ๑๙ บรรทัด นายประสาร บุญประคอง ได้อ่านจารึกหลักนี้

 
ภาพจารึกในวงเวียน ต้นโพ หน้าเมืองกำแพงเพชร เป็นจารึกของรัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งเป็นมกุฎราชกุมาร

ความว่า

๑. ศุภมัสดุพระพุทธศาสนายุกาลได้ ๒๔๔๘ พรรษา
๒. จุลศักราช ๑๒๖๗ ศกมะเส็ง รัตนโกสินทรศก ๑๒๔
๓. เป็นปีที่ ๓๘ ในรัชกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
๔. เจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
๕. มกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินจากมณฑลพายัพ
๖. มาถึงเมืองกำแพงเพชรนี้ วันอังคารเดือนยี่ แรม ๗ ค่ำ
๗. สุริยคติกาลกำหนด วันที่ ๑๖ เดือนมกราคม เสด็จประพาส
๘. ทอดพระเนตรโบราณสถานหลายแห่งเป็นครั้งแรก
๙. ประทับแรมอยู่ ๒ ราตรีตั้งพลับพลานอกกำแพง
๑๐. เมืองกำแพงเพชร ที่วัดชีนางเกา   ริมลำน้ำปิงฝั่งเหนือฯ
๑๑. ครั้นลุพระศาสนายุกาลได้ ๒๔๕๐ พรรษา
๑๒. จุลศักราช ๑๒๖๙ ศกมะแม รัตนโกสินทรศก ๑๒๖
๑๓. เป็นปีที่ ๔๐ ในรัชกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
๑๔. เจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์นั้น
๑๕. ได้เสด็จพระราชดำเนินมาถึงเมืองกำแพงเพชรนี้
๑๖. วันพุธเดือนยี่ขึ้น ๑๓ ค่ำ สุริยคติกาลกำหนด
๑๗. วันที่ ๑๕ มกราคม ได้เสด็จประพาสทอดพระเนตร
๑๘. โบราณสถานซ้ำอีกเป็นครั้งที่ ๒ ประทับแรมอยู่
๑๙. ๓ ราตรีที่พลับพลาเดิมฯ
 
                    นำจารึกในใบเสมาของรัชกาลที่ ๖ มาประดิษฐาน แก้เคล็ด ลักษณะฮวงจุ้ย

มีใจความสำคัญ สรุปได้ว่า 
พ.ศ. ๒๔๔๘ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินจากมณฑลพายัพมาถึงเมืองกำแพงเพชร ทอดพระเนตรโบราณสถานหลายแห่ง โดยประทับแรมที่พลับพลาบริเวณวัดชีนางเการิมลำน้ำปิงฝั่งเหนือ นอกเมืองกำแพงเพชร เป็นเวลา ๒ คืน ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๕๐ เสด็จมาทอดพระเนตรโบราณสถานอีกครั้งหนึ่ง และทรงตั้งพลับพลาประทับแรม ๓ คืน ในที่เดิม
ในโอกาสที่ เสด็จเมืองกำแพงเพชรครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๐ ขณะนั้น ที่ว่าการเมืองกำแพงเพชร หลังแรก สร้างเสร็จพอดี (บริเวณที่ทำการเหล่ากาชาดกำแพงเพชร ในปัจจุบัน) พระองค์ทรงปลูกต้นสักไว้ที่หน้าที่ว่าการเมืองกำแพงเพชร เป็นที่ระลึก ปัจจุบันต้นสักทรงปลูก ยังสูงใหญ่และงดงามมาก
 
พลับพลาที่ประทับ ที่ ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมาร บริเวณวัดชีนางเกานั้น เป็นทั้งที่ประทับแรมของพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อคราประพาสต้น เมืองกำแพงเพชร ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ด้วย
ต่อมาจังหวัดกำแพงเพชร ได้ตั้งโรงเรียนสตรีขึ้น และได้ใช้พลับพลารับเสด็จและประทับแรม เป็นที่ทำการของโรงเรียน มีนามเป็นสิริมงคลว่า โรงเรียนสตรีพลับพลา ต่อมาได้ กลายเป็นโรงเรียนสตรีกำแพงเพชร “นารีวิทยา” ในที่สุด ได้รวมกันกับโรงเรียนชาย กำแพงเพชร “วัชรราษฎร์วิทบาลัย” เปลี่ยนนามเป็นโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม ในปัจจุบัน 
        โรงเรียนสตรีพลับพลา สร้างอาคารเรียนใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนสตรีกำแพงเพชร “นารีวิทยา”
ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ จังหวัดกำแพงเพชร ได้สร้างที่ทำการเมืองหลังใหม่เสร็จเรียบร้อย ภายในกำแพงเมืองกำแพงเพชร และสร้างสะพานคอนกรีตข้ามลำน้ำปิง ตรงมายังที่ว่าการเมืองเลยทีเดียว ซึ่งผู้รู้ทั้งหลายทักกันว่า ผิดหลักฮวงจุ้ย จะไม่เป็นมงคลกับเมืองกำแพงเพชร ไม่สามารถแก้ไข เปลี่ยนแปลง ทั้งที่ว่าการเมือง(ศาลากลาง)และสะพานกำแพงเพชรได้ ที่ประชุมกรรมการเมืองกำแพงเพชร และท่านผู้รู้ในเมืองกำแพงเพชร ได้แก้เคล็ด ฮวงจุ้ย ดังกล่าว โดยอัญเชิญ ใบเสมาศิลาจารึก ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมาร ที่ประดิษฐานบริเวณต้นโพ ขึ้นมาประดิษฐานกลางวงเวียน ขวางกันไว้ มิให้สิ่งที่ไม่เป็นมงคลเข้าสู่เมืองกำแพงเพชร ที่ตั้งใบเสมาจารึกสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมาร จึงตั้งตระหง่าน เป็นจุดศูนย์กลางของเมืองกำแพงเพชรมาจนถึงปัจจุบัน แม้ได้เปลี่ยน ฐานรองรับมาหลายรูปแบบ จนมาถึงปัจจุบัน
 
                           สะพานกำแพงเพชร ที่ตัดตรงไปยังศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร

นับว่าการเสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชร สองครา คือพุทธศักราช ๒๔๔๘ และ ๒๔๕๐ ทรงพระราชทานสิ่งที่เป็นมงคลให้ชาวกำแพงเพชร มาจนถึงปัจจุบัน คือ
๑.ต้นสัก ทรงปลูก เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๐
๒.จารึกวงเวียนต้นโพ กลางเมืองกำแพงเพชร
๓.หนังสือพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง
๔.พลับพลารับเสด็จวัดชีนางเกา กลายเป็นโรงเรียนสตรีพลับพลา  โรงเรียนสตรีกำแพงเพชร “นารีวิทยา” และ เป็นกำแพงเพชรพิทยาคม เมื่อรวมกับ กำแพงเพชร “วัชรราษฎร์วิทยาลัย”
นับ เป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อเมืองกำแพงเพชร ที่ชาวกำแพงเพชร ประทับใจอยู่มิรู้คลาย

‘’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!