จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 02, 2025, 12:31:40 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ตอนที่ ๑๔ ตอนที่ ๑๔ เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก”  (อ่าน 119 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1479


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: มีนาคม 21, 2025, 05:37:21 pm »

ตอนที่ ๑๔

เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก”
ก่อนถึงวันพระราชทานเพลิงศพพระเทพวชิรเมธี,ผศ.ดร. (วีระ วรปญฺโญ)
เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง

ตอนที่ ๑๔ : ช่วงเวลา “๕ ปีชม” ของหลวงตาเอกแห่งวัดพระบรมธาตุ

หลังจากช่วงเวลาแห่งการพัฒนาวัดพระบรมธาตุ “๕ ปีซ่อม ๕ ปีสร้าง ๕ ปีสวย” รวมเป็น เวลา ๑๕ ปีผ่านไป ในช่วงจากปี พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๖๕ ผู้เขียนขอเรียกว่าช่วงเวลานี้ว่า “๕ ปีชม” เพราะเป็นช่วงที่ทุกอย่างภายในวัดเริ่มลงตัว เป็นห้วงเวลาที่หลวงพ่อไม่ได้ทุ่มเทกับการก่อสร้าง มากมายเหมือนก่อนหน้านี้ และเป็นช่วงคุณงามความดีที่หลวงพ่อได้สั่งสมมาเริ่มผลิดอกออกผล หรือได้รับอานิสงส์แห่งบุญนั้น

ตลอดระยะเวลาที่หลวงพ่อมารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุยังได้อนุรักษ์ฟื้นฟู กิจกรรมงานบุญต่าง ๆ ของวัดพระบรมธาตุให้คงอยู่คู่กับวัดและชุมชน พยายามจัดกิจกรรมงาน บุญตลอดทั้งปีเพื่อไม่ให้ชาวบ้านกับวัดมีความห่างเหินกัน แต่การทำบุญของหลวงพ่อไม่ใช่การ เปิดรับบริจาค ขอเพียงแค่คนมาร่วมงานที่วัดจัดขึ้นก็พอแล้ว งานบุญสำคัญของวัดพระบรมธาตุใน ตลอดระยะเวลา ๑ ปีนั้น เริ่มต้นจากงานไหว้พระบรมธาตุ เพ็ญเดือน ๓

งานประจำปีไหว้พระบรมธาตุ เพ็ญเดือน ๓ มีมาตั้งแต่เมื่อไรนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่ผู้สูงอายุชาวนครชุมได้ให้ข้อมูลตรงกันว่า ประเพณีไหว้พระบรมธาตุนครชุมในวันเพ็ญเดือน ๓ เท่าที่จำความได้ก็มีมาช้านานแล้ว โดยทางวัดพระบรมธาตุจะจัดงานขึ้น และพุทธศาสนิกชนใน จังหวัดกำแพงเพชรก็จะรับรู้โดยทั่วกันว่า ช่วงวันเพ็ญเดือน ๓ จะต้องเดินทางมาไหว้พระบรมธาตุ นครชุมหรือมาเที่ยวงานไหว้พระบรมธาตุนครชุมเป็นประจำทุกปี ซึ่งทางวัดพระบรมธาตุจะจัดงาน ขึ้นในช่วงระหว่างวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ถึงแรม ๓ ค่ำเดือน ๓ ของทุกปี ในลานพระบรมธาตุจะมีซุ้มต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้ทำบุญ เช่น ซุ้มถวายสังฆทาน ซุ้มตักบาตรประจำวันเกิด ซุ้มตัก บาตร ๑๐๘ ซุ้มสวดนพเคราะห์สะเดาะเคราะห์ต่อชะตา ซุ้มบูชาวัตถุมงคล ซุ้มผ้าป่าสนับสนุน การศึกษาของพระภิกษุสามเณร เป็นต้น ในงานประเพณีดังกล่าวจึงเป็นงานบุญอันยิ่งใหญ่ที่เปิด โอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้ทำบุญพร้อม ๆ กับการไหว้ขอพรองค์พระบรมธาตุนครชุมด้วย

ส่วนกลางคืนนั้น ก็จะมีมหรสพสมโภชตลอดทุกคืน เช่น ลิเก หนังกลางแปลง รำวงย้อน ยุค และการแสดงที่เวทีกลางซึ่งจะเป็นการแสดงของเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัด กำแพงเพชรที่ส่งนักเรียนมาร่วมแสดงสมโภชองค์พระบรมธาตุนครชุมในช่วงงานประจำปี มหรสพ ต่างๆ จะยุติลงในเวลาประมาณเที่ยงคืนของทุกคืน และตลอดช่วงงานประเพณีจะมีร้านค้ามากมาย มาตั้งร้านจำหน่ายสินค้า ทั้งสินค้าพื้นเมือง สินค้า OTOP สินค้าจากโรงงาน อาหารเครื่องดื่มและ ข้าวของเครื่องใช้ทั่วไป

นอกจากนี้ ในช่วงงานประเพณีไหว้พระบรมธาตุนครชุมยังมีการเผาข้าวหลาม “มหกรรม เผาข้าวหลามภูมิปัญญาไทย” จำหน่ายเพื่อนำรายได้ร่วมทำบุญกับทางวัดพระบรมธาตุด้วย ทำให้“ข้าวหลาม” เป็นเอกลักษณ์และของฝากสำคัญของงานประเพณีไหว้พระบรมธาตุนครชุมไปแล้ว เพราะในรอบ ๑ ปี จะมีการเผาข้าวหลามเพียง ๕ วัน เฉพาะช่วงงานประเพณีเท่านั้น เดิมทีก่อน หน้าที่หลวงพ่อจะมาอยู่วัดพระบรมธาตุนั้น การเผาข้าวหลามจะทำอยู่บ้านใครบ้านมัน แล้วค่อย เอามารวมกันทำบุญที่วัด เมื่อหลวงพ่อมาอยู่จึงสนับสนุนไม้ไผ่และมะพร้าวสำหรับทำกะทิ พร้อม ทั้งชวนให้ชาวบ้านมาเผาข้าวหลามรวมกันอยู่ภายในวัด แต่ละปีข้าวหลามจะถูกเผาเป็นจำนวนมาก ขูดมะพร้าวคั้นกะทิ แช่ข้าวและเผากันสด ๆ ร้อน ๆ ภายในวัด ทำให้ข้าวหลามมีความสดใหม่และ อร่อยหวานมันเป็นเอกลักษณ์ แต่ละปีจะมีผู้คนมาเข้าคิวรอซื้อข้าวหลามเป็นจำนวนมาก

ในพิธีเปิดงานไหว้พระบรมธาตุ เพ็ญเดือน ๓ หลวงพ่อจะให้มีการนิมนต์พระเดชพระคุณ พระเทพวัชราภรณ์ (เฉลิม วีรธมฺโม ป.ธ. ๕) เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร - พิจิตร (ธรรมยุต) เจ้าอาวาสวัดนาควัชรโสภณ อำเภอเมืองกำแพงเพชร มาเป็นประธานสงฆ์ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และชัยมงคลถาคาในพิธีเปิดงานเป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ของคณะสงฆ์ฝ่าย มหานิกายและธรรมยุติกนิกายในจังหวัดกำแพงเพชรให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในฐานะเป็นสาวก ของพระพุทธเจ้า ภายหลังพระเทพวัชราภรณ์ได้ลาออกจากตำแหน่งและย้ายไปจำพรรษาที่วัด ประชาบำรุง จังหวัดมหาสารคาม ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ หลวงพ่อก็ให้นิมนต์พระครูปัญญาสัตติคุณ (ณรงค์ศักดิ์ จิตฺวํโส) เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร - พิจิตร (ธรรมยุต) วัดไพรสณฑ์รัตนาราม อำเภอ คลองลาน (ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระสุนทรวชิราจารย์) มาเป็นประธานสงฆ์ในพิธีนี้แทน

ประเพณีก่อพระทราย จัดขึ้นในช่วงวันตรุษไทย คือวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ จะมีการนำ ทรายที่ริมฝั่งแม่น้ำปิงมาก่อเป็นเจดีย์ทราย แล้วประดับตกแต่งด้วยดอกไม้และกระดาษสีให้เกิด ความสวยงาม

ประเพณีสงกรานต์ ทางวัดพระบรมธาตุจะจัดกิจกรรมเป็นเวลา ๓ วัน วันแรกตรงกับวันที่ ๑๒ เมษายน จะมีกิจกรรมก่อเจดีย์ทราย วันที่สองตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน ช่วงเช้าจะมีกิจกรรม ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้กับอดีตเจ้าอาวาสวัดและทำบุญรวมญาติ ช่วงบ่ายจะมีกิจกรรม สรงน้ำพระ ซึ่งหลวงพ่อจะเปิดโอกาสให้ญาติโยมสรงน้ำขอพรได้ในช่วงเวลานี้ และวันที่สามตรงกับ วันที่ ๑๔ เมษายน ช่วงกลางวันจะมีพิธีแห่ผ้าห่มองค์พระบรมธาตุ ช่วงเย็นจะมีพิธีก่อพระทรายน้ำ ไหล โดยนำทรายที่ริมฝั่งแม่น้ำปิงมาก่อเป็นเจดีย์ทรายขนาดใหญ่ ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้และ กระดาษสีให้เกิดความสวยงาม จากนั้นก็จะมีการถวายพระทรายที่ริมฝั่งแม่น้ำปิง

วันที่ ๒๒ - ๒๓ มิถุนายนของทุกปี นับตั้งแต่สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระมหาธรรม ราชาลิไทยแล้วเสร็จ หลวงพ่อมีดำริให้จัดงานวันสถาปนาพระบรมราชานุสาวรีย์พระมหาธรรม ราชาลิไทย และรำลึกการสถาปนาพระบรมธาตุนครชุม ในงานจะเป็นกิจกรรมแบบงานวัดทั่วไปในช่วงเย็นวันที่ ๒๒ มิถุนายนจะมีกิจกรรมรำบวงสรวงดวงพระวิญญาณพระมหาธรรมราชาลิไทย ภาคค่ำจะมีมหรสพสมโภช เช่น ลิเกหรือการแสดงของนักเรียนจากโรงเรียนในเขตใกล้เคียง ช่วง เช้าวันที่ ๒๓ มิถุนายนจะมีกิจกรรมทำบุญตักบาตร และช่วงบ่ายจะมีพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณ พระมหาธรรมราชาลิไทย ระยะแรกงานนี้หลวงพ่อใช้งบประมาณทางวัดจัดขึ้น ต่อมาทางองค์การ บริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชรได้สนับสนุนงบประมาณบางส่วน และในงานนี้จะมีการทำบุญแจก ทานข้าวสารอาหารแห้งอีกด้วย

วันที่ ๙ - ๑๒ สิงหาคมของทุกปี หลวงพ่อดำริให้มีการจัดงานบวชศีลจารินีเฉลิมพระ เกียรติ ๑๒ สิงหามหาราชินี โดยเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนมาบวชศีลจารินีรักษาศีล ๘ เข้าพัก ปฏิบัติธรรมอยู่ภายในวัด ทุกปีมีผู้มาร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติปีราวละ ๑๒๐ - ๒๐๐ คน วันที่ ๒๕ สิงหาคมของทุกปี หลวงพ่อดำริให้มีการจัดงานรำลึก ร. ๕ เสด็จประพาสต้น เนื่องจากใน
วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรและทรงนมัสการพระบรมธาตุนครชุม ทุกปีหลวงพ่อจึงให้มี การจัดงานรำลึกทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล บางปีในช่วงกลางวันก็จัดให้มีการละเล่น พื้นบ้าน และจัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการ

ช่วงเทศกาลกินเจของแต่ละปี หลังจากที่มีเจ้าภาพถวายรูปเจ้าแม่กวนอิมแกะสลักจากไม้ หอมกฤษณาขนาดใหญ่ และทางวัดได้สร้างวิหารแปดเหลี่ยมประดิษฐานไว้ด้านหลังอาคารตลาด น้ำนครชุมในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ทางวัดก็จะมีการจัดทำโรงครัวเจ เพื่อรองรับผู้ที่ถือศีลกินเจและ เดินทางมาขอพรเจ้าแม่กวนอิมไม้หอมกฤษณา

วันสารทไทย ซึ่งตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ถือเป็นงานบุญสำคัญของวัดที่หลวงพ่อ ดำริให้มีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ก่อนวันสารทไทยจะมีการทำข้าวต้มลูกโยนตลอดทั้งวัน ในเช้า วันงานจะมีการบิณฑบาตกระยาสารท กล้วยไข่ และข้าวต้มลูกโยน หลังพระภิกษุสามเณรฉัน ภัตตาหารเช้าเสร็จก็จะเป็นพิธีเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก ๑๓ กัณฑ์ ตลอดทั้งวันทั้งคืน โดย หลวงพ่อมักจะขึ้นแสดงธรรมกัณฑ์ทศพรเป็นกัณฑ์แรก จากนั้นก็จะเป็นพระธรรมกถึกแสดงธรรม ต่อเนื่องกันไปจนถึงรุ่งเช้า แต่ละปีก็จะนิมนต์พระธรรมกถึกทั้งภายในวัดและวัดอื่นที่มีชื่อเสียงใน การเทศน์เฉพาะกัณฑ์มาแสดงธรรม

วันออกพรรษา ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ช่วงเช้าก็จะมีการทำบุญและตักบาตร เทโวโรหณะที่ลานพระบรมธาตุ และวันลอยกระทง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ช่วงเย็นก็จะมีการ ทอดผ้าป่าแถว และช่วงค่ำก็จะมีกิจกรรมลอยกระทงสายกาบกล้วยที่ริมฝั่งแม่น้ำปิง

วันที่ ๓ - ๖ ธันวาคมของทุกปี หลวงพ่อดำริให้มีการจัดงานบวชศีลจารินีเฉลิมพระเกียรติ ๕ ธันวามหาราช (ภายหลังเปลี่ยนเป็นงานถวายพระราชกุศลแทน) โดยเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนมาบวชศีลจารินีรักษาศีล ๘ เข้าพักปฏิบัติธรรมอยู่ภายในวัด ทุกปีมีผู้มาร่วม กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติปีราวละ ๑๒๐ - ๒๐๐ คน

วันที่ ๓๑ ธันวาคมของทุกปีซึ่งเป็นวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จะมีพิธีเจริญพระพุทธ มนต์ ส่งท้ายปีเก่าวิถีไทย ต้อนรับปีใหม่วิถีพุทธ ซึ่งหลวงพ่อมีดำริให้จัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีขึ้น เป็นวัดแรก ๆ ในประเทศไทย โดยจะเริ่มมีการสวดมนต์ตั้งแต่เวลา ๒๒.๐๐ น. เป็นต้นไป เมื่อถึง เที่ยงคืนจะมีการตักบาตรเที่ยงคืนด้วยเมล็ดถั่ว งา ข้าวเปลือก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความอุดม สมบูรณ์และเจริญงอกงาม ในคืนนี้ก็จะมีญาติโยมส่วนหนึ่งมาตั้งโรงทานตลอดคืน โดยเฉพาะโรง ทานปลากริมไข่เต่าจากชุมชนเจดีย์หัก จังหวัดราชบุรี ที่มีศรัทธาในตัวหลวงพ่อจะขึ้นมาทำโรงทาน แทบทุกปี เป็นที่รอคอยลิ้มรสของชาวกำแพงเพชรเป็นอย่างมาก

ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ วันมาฆบูชา วัดวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา และวัน อาสาฬหบูชา ช่วงเช้าจะมีการทำบุญตักบาตร แสดงพระธารรมเทศนา ๑ กัณฑ์ ในเนื้อหาที่ เกี่ยวข้องกับวันสำคัญนั้น ๆ ปกติแล้วหลวงพ่อมักจะเป็นผู้แสดงพระธรรมเทศนาด้วยตนเอง ช่วง ค่ำก็จะมีพิธีเวียนเทียนรอบองค์พระบรมธาตุ ซึ่งที่วัดพระบรมธาตุจะมีพิธีเวียนเทียนในเวลา ๒๐.๐๐ น. เนื่องจากหลวงพ่อเห็นว่าเป็นช่วงที่อากาศบริเวณลานพระบรมธาตุเริ่มเย็น พื้น กระเบื้องไม่ร้อนมาก และพุทธศาสนิกชนสามารถกินข้าวมื้อค่ำแล้วค่อยมาเวียนเทียนได้ จะได้ไม่ รีบร้อนมากนัก ส่วนวันวิสาขบูขาจะแตกต่างจากวันอื่นเล็กน้อยเพราะจะมีพิธีถวายสลากภัตต์ด้วย และในวันเข้าพรรษาก็จะมีโยมแอ๊ด (ผู้เขียนจำชื่อจริงไม่ได้) จากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นำ ดอกเข้าพรรษาจากแม่สอดมาถวายหลวงพ่อ เพื่อให้พระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนที่มา ทำบุญได้ใช้เวียนเทียนเป็นประจำทุกปี

ในช่วงเข้าพรรษาของทุกปี ในทุกบ่ายวันอาทิตย์หลวงพ่อจะจัดให้มีการเทศน์มหาชาติ เฉลิมพระเกียรติไปจนตลอดทั้งพรรษา และมีการถ่ายทอดเสียงออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจาย เสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดกำแพงเพชร (สวท. 97.25 Mhz) อีกด้วย

นอกจากกิจกรรมของทางวัดที่มีวันจัดงานเป็นที่แน่นอนดังกล่าวมานี้แล้ว ยังมีงานบุญอื่น ที่กำหนดวันไม่ได้แน่นอน เช่น พิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน และงานบุญอื่น ๆ ที่มักจะมีการ จัดขึ้นอยู่เนือง ๆ เนื่องจากวัดพระบรมธาตุเป็นสถานที่จัดงานสำคัญ ๆ ของทางหน่วยงาน บ้านเมืองและคณะสงฆ์จังหวัดกำแพงเพชร ที่สำคัญคือทุกงานหลวงพ่อจะอยู่เป็นประธานสงฆ์โดย ตลอด และทุกงานหลวงพ่อจะกำกับดูแลการจัดกิจกรรมด้วยตัวเอง ภาพหลวงพ่อร่วมกับพระภิกษุ สามเณรและญาติโยมร่วมกันเตรียมงานด้วยตัวท่านเอง ไม่ทอดทิ้งคนทำงาน งานเสร็จดึกหลวงพ่อ ก็จะอยู่ด้วยจนดึก เป็นภาพที่ชินตาของชาวนครชุมและศิษยานุศิษย์ ไม้กวาดและอุปกรณ์สำหรับ การทำความสะอาดและพัฒนาด้านอาคารสถานที่จะอยู่ที่ท้ายรถไฟฟ้า (รถกอล์ฟ) ซึ่งเป็นรถส่วนตัวที่หลวงพ่อใช้ขับสำหรับตรวจการณ์ภายในวัดเสมอ เมื่อเจอจุดไหนที่ไม่สะอาดหรือไม่ เรียบร้อย หลวงพ่อก็จะจอดรถและใช้อุปกรณ์ดังกล่าวจากท้ายรถลงมือทำความสะอาดทันที

ช่วงเวลานี้ หลวงพ่อก็ยังไม่หยุดการพัฒนาตัวเอง ได้เข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนิติศาสตร บัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นรุ่นแรกที่เปิดทำ การเรียนการสอน เน้นผู้เรียนที่เป็นพระสังฆาธิการและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป เนื่องจากสามารถเทียบโอนได้ หลวงพ่อสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในปี พ.ศ. ๒๕๖๑

หลังจากหลวงพ่อสำเร็จการศึกษาหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์แล้ว ก็ สมัครเข้าเรียนต่อในหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬา ลงกรณราชวิทยาลัย หลังจากเรียนภาคทฤษฎีจบตามหลักสูตรกำหนด หลวงพ่อก็เริ่มอาพาธ ช่วงเวลาที่แข็งแรงขึ้นก็พยายามที่จะทำวิทยานิพนธ์ให้สำเร็จการศึกษา แต่ทว่าในช่วงต้นเดือน ตุลาคม ๒๕๖๒ ศาสตราจารย์ พล.ต.ท. หญิง ดร. นัยนา เกิดวิชัย ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา วิทยานิพนธ์ก็ถึงแก่กรรม หลวงพ่อก็มีอาการทรุดลงตามลำดับ จึงไม่อาจที่จะทำวิทยานิพนธ์ให้ สำเร็จการศึกษา แต่ถึงกระนั้นหลวงพ่อก็รักษาสภาพนิสิตไว้โดยตลอด

ผู้เขียน : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ
#ติดตามอ่านต่อตอนที่  ๑๕
#หลวงตาเอก #วัดพระบรมธาตุนครชุม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!