จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 20, 2024, 09:27:46 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ๒๕ พฤศจิกายน วันมหาธีรราชเจ้า  (อ่าน 5356 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1413


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: พฤศจิกายน 17, 2011, 07:20:57 pm »

คัดลอกจาก  http://www.prommapanyo.com/smf/index.php?topic=1091.0

เพื่อออกอากาศ สถานีวิทยุ แห่งประเทศไทยกำแพงเพชร ๒๒ พ.ย. ๕๔


25 พฤศจิกายนวันคล้ายวันสวรรคต  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่6เชิญชวนชาวเว็บร่วมกันสดุดีองค์พระมหาธีรราชเจ้าร่วมกันนะครับ


หากสยามยังอยู่ยั้ง     ยืนยง
เราก็เหมือนอยู่คง             ชีพด้วย
หากสยามพินาศลง     ไทยอยู่ ได้ฤา
เราก็เหมือนมอดม้วย     หมดสิ้นสกุลไทย
พระราชนิพนธ์สยามานุสสติ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ภาพจาก www.krama6.su.ac.th

            พระองค์ทรงสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ โดยได้อัญเชิญพระบรมศพไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท รวมพระชนมพรรษาได้ ๔๖ พรรษา และเสด็จดำรงสิริราชสมบัติได้ ๑๕ พรรษา แต่เนื่องจากเวลาที่พระองค์เสด็จสวรรคต เป็นเวลา ๑ นาฬิกา ๔๕ นาทีนั้น เพิ่งจะล่วงมาในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชประสงค์ให้ถือเอาวันที่ ๒๕ พฤศจิกายนเป็นวันสวรรคต และวันที่ ๒๖ พฤศจิกายนเป็นวันเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ

ดังนั้นแล้ว ทางราชการได้กำหนดให้วันที่ ๒๕พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันที่ระลึกวันมหาธีรราชเจ้า





พระราชประวัติ





     พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๒๓ ได้รับพระราชทานพระนาม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ



 ภาพเมื่อครั้งทรงพระชนมายุน้อย จาก http://upload.wikimedia.org/


ต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารสืบแทนพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ซึ่งประชวรและเสด็จสวรรคตเมื่อทรงพระเยาว์ ทรงได้รับการศึกษาวิชาต่าง ๆหลายสาขา เช่น วิชาอักษรศาสตร์และศิลปศาสตร์ และทรงเสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ.๒๔๓๖ พระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา พระองค์ทรงศึกษาวิชาการทหารที่โรงเรียนทหารบกแซนด์เฮิสต์ และทรงศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และภูมิศาสตร์ในมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด รวมเวลาที่ทรงศึกษาอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลา ๙ ปี ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาต่างประเทศ เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยทรงรับราชการในกองทัพบก ใน พ.ศ. ๒๔๔๗ ทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม องค์อุปัชฌาย์คือ พระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา ๑ พรรษา
ครั้นสมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จสรรคต ณ วันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ สมเด็จพระ
บรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุ ๓๑ พรรษา พระองค์ทรงครองราชย์ได้ ๑๕ พรรษา ก็ทรงพระประชวรโรคพระโลหิตเป็นพิษ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘ พระชนมายุ ๔๕ พรรษา ทรงมีพระราชธิดาองค์เดียวคือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ประสูติก่อนพระองค์เสด็จสวรรคต เพียง ๒ ชั่วโมง

พระราชกรณียกิจด้านการปกครอง

          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถ
หลายด้าน โดยเฉพาะในด้านการปกครอง การศึกษา การศาสนา การทหาร การเมืองระหว่างประเทศ อักษรศาสตร์ ศิลปกรรม
พระองค์ทรงปรับปรุงการปกครองแผ่นดินทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เปลี่ยนคำเรียก
ชื่อเมืองเป็นจังหวัด รวมมณฑลเป็นภาค ทรงจัดตั้งและปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมต่างๆ มาก
มายเช่น ยก กรมทหารเรือเป็นกระทรวงทหารเรือ เปลี่ยนชื่อ กระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการ ทรงจัดระเบียบกระทรวงยุติธรรมใหม่ โดยแยกหน้าที่ฝ่ายธุรการ และฝ่ายตุลาการออกจากกัน ทรงจัดตั้งเนติบัณฑิตยสภา ทรงตั้งกรมศิลปากร กรมพาณิชย์ กรมสาธารณสุข
พระองค์ทรงเป็นนักประชาธิปไตยได้พระราชทานเสรีภาพแก่นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ใน
การเขียนวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติใด ๆได้ ทรงพระราชนิพนธ์บทความต่าง ๆเกี่ยวกับการเมือง โดยทรงใช้พระนามแฝงว่า " อัศวพาหุ" บ้าง "รามจิตติ" บ้างส่งไปลงหนังสือพิมพ์ ถ้ามีคนเขียนโต้แย้งจะทรงตอบด้วยน้ำพระราชหฤทัยเป็นนักประชาธิปไตยมิได้ทรง ใช้พระราชอำนาจ

เมืองดุสิตธานี




ดุสิตธานี ภาพจาก www.thaisamkok.com





          พระองค์ทรงตั้งเมือง " ดุสิตธานี " ขึ้นเพื่อทรงทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตย
เมืองดุสิตธานี เป็นเมืองจำลองเล็กๆ ตั้งอยู่ภายในเขตพระราชฐาน ทรงจัดการปกครองแบบคณะนคราภิบาล เพื่อเป็นการทดลอง และทรงอบรมสั่งสอนการบริหารการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทรงเน้นการวางผังเมือง การสาธารณูปโภค การสุขาภิบาล และการจัดสวนสาธารณะ
ทรงกำหนดให้คนไทยมีนามสกุล โดยประกาศใช้พระราชบัญญัตินามสกุล เมื่อพ.ศ.๒๔๕๖
เพื่อเป็นการให้คนไทยมีนามสกุลใช้ต่อท้ายชื่อเป็นสกุลวงศ์ของครอบครัว และเพื่อป้องกันความ
สับสนในกรณีที่มีชื่อซ้ำกัน และยังช่วยทำให้คนในสกุลทำความดีเพื่อรักษาเกียรติยศของวงศ์ตระกูล
ในปีพ.ศ. ๒๔๕๖ ได้ทรงประกาศให้เลิกใช้จุลศักราช และใช้พุทธศักราชแทน
ในปีพ.ศ. ๒๔๖o โปรดให้เลิกโรงหวย ก. ข. รวมทั้งโรงบ่อนการพนัน


พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา




โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ภาพจาก www.sainampeung.ac.th



          พ.ศ. ๒๔๕๓ โปรดเกล้าฯพระราชทานที่ดินและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งโรงเรียน มหาดเล็กหลวง เป็นโรงเรียนในพระองค์ ปัจจุบันคือ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย จัดการศึกษาระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย
พ.ศ. ๒๔๕๔ ทรงรวมกรมโยธา และกรมพิพิธภัณฑ์เป็น กรมศิลปากร เพื่อให้การศึกษาและอนุรักษ์วัฒนธรรม ศิลปกรรม โบราณคดีทรงจัดตั้งโรงเรียนพาณิชยการ เพื่อให้การศึกษาอาชีวศึกษา ด้านวิชาการกฏหมาย ทรงยกฐานะโรงเรียนกฏหมาย ต่อมาโปรดเกล้าฯให้ตั้งเนติบัณฑิต ทำหน้าที่ให้การศึกษาด้านกฏหมายและควบคุมจรรยาบรรณของนักกฏหมาย
พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูสตรี เพื่อส่งเสริมการศึกษาของสตรี เปิดโรงเรียนสตรีตามจังหวัดต่าง ๆ ทำให้การศึกษาของสตรีแพร่หลายพัฒนามาแต่บัดนั้น
พ.ศ. ๒๔๕๙ โปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน และได้สถาปนาเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวลาต่อมา นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย
ทรงวางรากฐานการศึกษาแผนใหม่ในระดับประถมศึกษา โดยทรงจัดตั้งโรงเรียนครูประถมกสิกรรม เพื่อให้การศึกษาด้านเกษตรกรรมแพร่หลายออกไป ทรงจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ทหารบก ต่อจากการจัดตั้งโรงเรียนการพยาบาลแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา เป็นการเริ่มต้นการศึกษาการจัดการเรียนการสอนภาคบังคับในประเทศไทย


พระราชกรณียกิจด้านการลูกเสือ



          ทรงตั้งกองเสือป่าขึ้นเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๙ เพื่อฝึกฝนให้ประชาชนได้เรียนรู้วิชาทหาร ทำให้เป็นคนมีวินัย ปลุกใจให้มีความจงรักภักดี และป้องกันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ปลูกฝังความสามัคคีในหมู่คณะ ช่วยประเทศชาติในยามสงคราม
ในวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ทรงโปรดเกล้าฯ จัดตั้งกองลูกเสือไทยขึ้นพร้อมประกาศข้อบังคับลักษณะการปกครองลูกเสือไทย ฉบับแรก และได้พระราชทานคติประจำใจลูกเสือทุกคนว่า " เสียชีพอย่าเสียสัตย์" กิจการลูกเสือของไทยได้เจริญรุ่งเรืองเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองของไทยมา จนปัจจุบัน และได้วิวัฒนาการแตกสาขาออกไปเป็นกองอาสารักษาดินแดน ลูกเสือชาวบ้าน เนตรนารี เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเป็น พระบิดาแห่งลูกเสือไทย



พระราชกรณียกิจด้านการศาสนา



          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ทรงผนวชที่วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา ๑ พรรษา ทรงมีความรู้พระพุทธศาสนาอย่างแตกฉาน ทรงพระราชนิพนธ์บทสรรเสริญพระรัตนตรัย ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่ทรงแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องเกี่ยวกับศาสนาไว้หลายเรื่อง เช่น เทศนาเสือป่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร พระราชนิพนธ์แปลเทศนามงคลวิเศษกถาทรงไว้เป็นภาษาอังกฤษด้วย
นอกจากนั้นทรงบูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ที่สูงใหญ่ที่สุดของไทย เป็นปูชนียวัตถุที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งที่ประชาชนมากราบ ไหว้สักการะอยู่เนือง ๆ ที่พระปฐมเจดีย์แห่งนี้ มีพระร่วงโรจนฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปประดิษฐานในวิหารทิศเหนือที่เรียกว่า วิหารหลวงพ่อพระร่วง พระร่วงโรจนฤทธิ์เป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามญาติที่มีความงดงามเป็นเลิศ องค์หนึ่งในประเทศไทย ที่ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ เป็นที่บรรจุพระอังคารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระร่วงโรจนฤทธิ์



พระราชกรณียกิจด้านวัฒนธรรม ประเพณี



- ประกาศให้ใช้พุทธศักราชแทนรัตนโกสินทรศก- ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. ๒๔๕๖ เพื่อเป็นการให้คนไทยมีนามสกุลใช้ต่อท้ายชื่อเป็นสกุลวงศ์ของครอบครัว นอกจากจะช่วยให้ไม่สับสนในกรณีที่มีชื่อซ้ำกัน ยังจะส่งเสริ่มให้คนทำความดี เพื่อรักษาชื่อเสียงของวงศ์สกุลอีกด้วย และทรงมีพระราชอุตสาหะคิดนามสกุลพระราชทานถึง ๖,๔๖๐ สกุล
- กำหนดการใช้คำนำหน้าชื่อ นางสาว นาง นาย เด็กหญิง และเด็กชาย
- ไช้เวลามาตรฐานตามเวลาที่กรีนิชประเทศอังกฤษ ซึ่งเวลาในประเทศไทยจะเร็วกว่าเวลากรีนิช  7 ชั่วโมง
- เปลี่ยนแปลงการเรียกชื่อเวลา ใช้คำว่า นาฬิกา เลิกการใช้ทุ่มโมงยามดังแต่ก่อน
- ให้ถือการเริ่มวันใหม่เป็นหลังเวลาเที่ยงคืน
- ร่างกฎมญเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์
 - เลิกประเพณีโห่ฮิ้ว ให้ใช้ไชโยแทน
- ทรงคิดคำไทยให้ใช้แก่สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ใช้รถยนต์ แทนคำว่า มอเตอร์คาร์ กองรักษาการ หรือ ใช้ตำรวจ แทนคำว่า โปลิส
- ตั้งชื่อถนนต่างๆในกรุงเทพมหานคให้ใหม่เป็นคำไทย เช่น ถนนราชวิถี, ถนนราชดำเนินนอก เป็นต้น
- เปลี่ยนธงชาติไทยจากรูปช้าง เป็น ?ธงไตรรงค์?






ธงช้างเผือก ภาพจาก www.baanjomyut.com





พระราชกรณียกิจด้านการป้องกันประเทศ

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ประเทศทางยุโรปไค้แยกออกเป็น ๒ ฝำย คือ
ประเทศ ฝ่ายมหาอำนาจเยอรมนี  ออสเตรีย ฮังการี  กับอีกฝ่ายหนื่งคือฝ่ายสัมพันธมิตร มีอังกฤษ ฝรั่งเศส รุสเซีย  ในตอนต้นของสงครามประเทศไทยได้ประกาศตนเป็นกลาง แต่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมองเห็นผลของการร่วมสงคราม ที่มีต่อประเทศชาติ จึงทรงตัดสินพระทัยประกาศสงครามกับเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อรักษาสิทธิของประเทศ และรักษาความชอบธรรมทั้งหลายในระหว่างนานาประเทศ การเข้าร่วมสงครามครั้งนื้  พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ส่งทหารไทยอาสาสมัครไปร่วมรบในสมรภูมิด้วย นับเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมทางด้านการทหารของไทย

ซึ่งการเข้าร่วมสงครามในครั้งนี้ เป็นผลดีแก่ประเทศไทยอย่างยิ่ง ทำให้ไทยได้รับในฐานะเป็นประเทศที่เป็นฝ่ายชนะสงคราม ก็คือ ทำให้สามารถเจรจากับประเทศมหาอำนาจขอแก้ไขสนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ให้พ้นสภาพที่เคยเสียเปรียบชาวต่างชาติมาเป็นเวลานาน










อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ ๑  ภาพจาก www.prd.go.th




พระราชกรณียกิจด้านวรรณกรรมและศิลปกรรม









พระนลคำหลวง พระราชนิพนธ์ในพระองค์ ภาพจาก www.kositt.com


          พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเชี่ยวชาญในด้านอักษรศาสตร์เป็น อย่างยิ่ง ทรงพระราชนิพนธ์ร้อยแก้วและร้อยกรองได้ทุกแบบ ทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือมากที่สุด แม้จะทรงมีพระราชภาระในการบริหารราชการแผ่นดินมากมายเพียงใด ชั่วระยะเวลา ๑๕ ปีที่ทรงครองราชย์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือไว้ถึง ๒,ooo เรื่อง ทั้งยังเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ โดยแบ่งออกเป็น ๗ หมวด ได้แก่ โขนและละคร / พระราชดำรัส พระบรมราโชวาท พระบรมราชานุศาสนีย์ เทศนาปลุกใจเสือป่า / นิทานและบทชวนหัว / บทความที่ลงหนังสือพิมพ์ / ร้อยกรอง / สารคดี / อื่นๆ เช่น พระราชบันทึก พระราชหัตถเลขา

บทพระราชนิพนธ์บทหนึ่งของพระองค์ที่แสดงถึงความสำคัญของวรรณกรรมและศิลปกรรม คือ
นานาประเทศล้วน     นับถือ
คนที่รู้หนังสือ     แต่งได้
ใครเกลียดอักษรคือ     คนป่า
ใครเยาะกวีไซร้     แน่แท้ คนดง
      
อย่ากลัวถูกติพ้น     เกินสมัย หน่อยเลย
ใครเยาะก็ช่างใคร     อย่าเก้อ
เราไทยอักษรไทย     เราแต่ง สิอา
ใครติซิคือเส้อ     ไม่รู้สีสา

 หรือ
ชนใดไม่มีดนตรีการ     ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ     เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์


          พระราชนิพนธ์ที่ทรงคุณค่าของพระองค์ วรรณคดีสโมสรได้คัดเลือกพระราชนิพนธ์บทละครพูด หัวใจนักรบ บทละครพูดคำฉันท์ มัทนะพาธา เป็นวรรณกรรมเอก  
          นายตำรา ณ เมืองใต้ ได้ยกย่องปกิณกคดีของอัศวพาหุ โดยเฉพาะเรื่อง เมืองไทยจงตื่นเถิด บทละครคำฉันท์ มัทนะพาธา บทละครวิวาห์พระสมุทร และพระนลคำหลวง  
          เรื่องแปลที่มีชื่อเสียงมากคือ ตามใจท่าน โรเมโอและจูเลียต นินทาสโมสร เวนิสวานิช ที่เราจดจำรำลึกกันได้ก็คือ
อันว่าความกรุณาปรานี     จะมีใครบังคับก็หาไม่
หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ     จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน
เป็นสิ่งดีสองชั้นอันปลื้มใจ     แห่งผู้ให้และผู้รับสมถวิล
เป็นกำลังเลิศพลังอื่นทั้งสิ้น     เจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระกรุณาฯ

          หรือ แม้แต่บทเพลงที่ไพเราะได้นำมาจากพระราชนิพนธ์ของพระองค์คือ เพลงสีชัง

        สีชังชังชื่อแล้ว อย่าชัง
        อย่าโกรธที่จริงจัง จิตข้อง
        ตัวไกลแต่ใจยัง เนาแนบ
        เสน่ห์สนิทน้อง นิจโอ้อาดูร
        สีชังชังแต่ชื่อ จิตน้องฤาจะชังใคร
        ขอแต่แม่ทรามวัย อย่าชิงชังที่จังจริง
        ตัวไกลใจพี่อยู่ เป็นคู่น้องต้องยืนยัง
        ห่างเจ้าเฝ้าแลหลัง ตั้งใจติดมิตรสมาน

          ด้วยพระอัจฉริยภาพในด้านอักษรศาสตร์ พระปรีชาสามารถในด้านต่างๆ พระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศนานัปการ พระองค์จึงทรงได้รับการยกย่องเทิดพระเกียรติคุณว่า " สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า "ซึ่งหมายถึงมหาราชผู้ซึ่งเป็นจอมปราชญ์

          องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโกได้ยกย่องพระ บาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบุคคลสำคัญของโลกพระองค์หนึ่ง โดยพระราชเกียรติคุณ พระราชประวัติที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเอนกอนันต์ องค์การยูเนสโกได้สดุดีฉลองวันพระราชสมภพครบรอบ ๑๐๐ ปีในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๔ พร้อมกันนี้รัฐบาลได้เปิดอาคาร หอวชิราวุธานุสรณ์ ในบริเวณหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการ กิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ พระราชประวัติ ผลงานด้านวรรณกรรม เป็นต้น สำหรับประชาชนได้ศึกษาหาความรู้ตลอดไป


บรรณานุกรม

ประกาศ วัชราภรณ์. นักวัฒนธรรมไทยระดับโลก. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า ,
๒๕๔๕.
สมพร เทพสิทธา. พระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : สภาสังคม
สงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ, ๒๕๓๐.


เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง

พิพิธภัณฑ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 2 อาคารราชวัลลภ กรมการรักษาดินแดน ถนนเจริญกรุง http://www.tdd.mi.th/private/pipitapan.htm

รวบรวมข้อมูลโดย : ฝ่ายวารสารและเอกสาร / งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ
www.welovethailand.com/king6.html
www.krama6.su.ac.th/activity/
http://skw2.school.in.th/4977/view.php?topic=207
www.krama6.su.ac.th
http://202.142.219.4/vcafe/5321
http://www.lib.ru.ac.th/journal/royal6.html
http://www.geocities.com/poetichome/bio_2.htm
http://www.lib.ru.ac.th/journal/royal6.html
http://www.vcharkarn.com/varticle/38277



ขอพระองค์ทรงพระเจริญ
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
ข้าพเจ้าทีมงานและสมาชิกชุมชนคนรักหลวงปู่ดู่
 
 
 
 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 17, 2011, 07:23:53 pm โดย apairach » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!