๒๔ กุมภาพันธ์ วันศิลปินแห่งชาติ
๒๔ กุมภาพันธ์ อันตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีของไทย ซึ่งทรงได้รับการยกย่องให้เป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยทรงมีพระปรีชาสามารถล้ำเลิศในศิลปกรรมหลายสาขา และเพื่อเป็นการแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้วันนี้ของทุกปีเป็น ?วันศิลปินแห่งชาติ? โดยได้มีการประกาศเกียรติคุณแก่ศิลปินที่มีผลงานดีเด่นจนได้รับการยกย่องและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางให้เป็น ?ศิลปินแห่งชาติ? ซึ่งตามเกณฑ์การพิจารณาของโครงการศิลปินแห่งชาติ โดยนับเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ จนถึงปัจจุบันมีศิลปินแห่งชาติที่ได้รับการประกาศชื่อแล้ว ๒๒๑ คน
สำหรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินแห่งชาตินั้น ประกอบด้วย ๓ หลักเกณฑ์ด้วยกัน คือ
เกณฑ์ที่ ๑. คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ ซึ่งมี ๖ ประการ ได้แก่ เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสิน / เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะแขนงนั้น / เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นๆ / เป็นผู้ผดุง ถ่ายทอดหรือเป็นต้นแบบศิลปะแขนงนั้น / เป็นผู้มีคุณธรรม และมีความรักในงานศิลปะของตน / และเป็นผู้มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ
เกณฑ์ที่ ๒. คุณค่ามาตรฐานผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติ เช่น ผลงานต้องสื่อให้เห็นถึงคุณค่าในความดี ความงาม คุณค่าทางอารมณ์ สะท้อนความเป็นธรรมชาติ หรือสถานภาพทางสังคม และวัฒนธรรมแห่งยุคสมัย ค่านิยม จริยธรรม เอกลักษณ์ของท้องถิ่นและเอกลักษณ์ของชาติ/ผลงานสร้างสรรค์มีเอกลักษณ์เฉพาะตนไม่ลอกเลียนแบบจากผู้อื่นหรือมีกลวิธีเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น
เกณฑ์ที่ ๓. การเผยแพร่และยอมรับคุณค่าผลงานของศิลปินแห่งชาติ ประกอบด้วย ผลงานที่ได้รับการจัดแสดงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง มีหลักฐานอ้างอิง โดยเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิด พัฒนาการทางงานศิลปะอย่างเด่นชัด / ผลงานได้รับรางวัลหรือเกียรติคุณระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ ซึ่งมีกระบวนการพิจารณาเป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ จะคัดเลือกใน ๓ สาขา ได้แก่
๑. สาขาทัศนศิลป์ หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา แบ่งเป็น วิจิตรศิลป์ และประยุกต์ศิลป์ ส่วนที่เป็น วิจิตรศิลป์ ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สื่อผสม และภาพถ่าย ส่วนประยุกต์ศิลป์ ได้แก่ สถาปัตยกรรมแบบประเพณีและร่วมสมัย / มัณฑศิลป์ / การออกแบบผังเมือง / การออกแบบอุตสาหกรรม และประณีตศิลป์ เป็นต้น
๒. สาขาวรรณศิลป์ หมายถึง บทประพันธ์ที่แต่งอย่างมีศิลปะทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ความรู้สึกสะเทือนใจ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการและกลวิธีเสนอเรื่องที่น่าสนใจ
๓. สาขาศิลปะการแสดง หมายถึง ศิลปะที่มีการแสดง ซึ่งเป็นได้ทั้งวิจิตรศิลป์ ประยุกต์ศิลป์ รวมทั้งศิลปะพื้นบ้าน ได้แก่ การแสดง ดนตรี และการแสดงพื้นบ้าน โดยแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม คือ ๑. ดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทย ๒. ดนตรีสากลและนาฏศิลป์สากล ๓. ภาพยนตร์และละคร
เมื่อทำการคัดเลือกและได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว ศิลปินแห่งชาติที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจะเข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ผู้แทนพระองค์) ซึ่งเข็มเชิดชูเกียรติดังกล่าวมีความหมายว่า ?ความเป็นปราชญ์ในความรู้ความสามารถของศิลปินที่ได้อุตสาหะอุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานในด้านศิลปะไว้มากมายจนเป็นมรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรมของชาติทั้งในสาขาวรรณศิลป์ ทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง?
สำหรับการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๔ มีผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ จำนวนทั้งสิ้น ๙ คน ได้แก่
๑. สาขาทัศนศิลป์
๑.๑ นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ (จิตรกรรม)
๑.๒ นายเมธา บุนนาค (สถาปัตยกรรม)
๑.๓ นายทองร่วง เอมโอษฐ (ประณีตศิลป์- ศิลปะปูนปั้น)
๒. สาขาวรรณศิลป์
๒.๑ นายประภัสสร เสวิกุล (นวนิยายและกวีนิพนธ์)
๒.๒ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี (เรื่องสั้นและกวีนิพนธ์ )
๓. สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่
๓.๑ นางรัจนา พวงประยงค์ (นาฏศิลป์ไทย - ละคร)
๓.๒ นายนคร ถนอมทรัพย์ (ดนตรีสากล - ประพันธ์และขับร้อง)
๓.๓ นายเศรษฐา ศิระฉายา (ดนตรีไทยสากล - ขับร้อง)
๓.๔ รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล (ละครเวทีและละครโทรทัศน์)
ทั้งนี้ ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๔ ที่ได้รับการคัดเลือกจะเข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา ซึ่งตรงกับวันศิลปินแห่งชาติ และในวันดังกล่าวเวลา ๑๘.๐๐ ? ๒๑.๓๐ น. จะมีงานเลี้ยงแสดงความยินดียกย่องเชิดชูเกียรติ พร้อมกับชมการแสดงของศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๔ ณ โรงละครอักษรา นอกจากนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ยังได้จัดแสดงนิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๔ ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ตั้งแต่วันที่ ๒๔ ? ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ โดยจะมีพิธีเปิดนิทรรศการอย่างเป็นทางการในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนเยาวชน ประชาชนผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๔ ในระหว่างวันที่ ๒๔ ? ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยไม่เสียค่าใช้ เพื่อร่วมกันยกย่องเชิดชูเกียรติและให้กำลังใจแก่ศิลปินแห่งชาติทุกท่าน ซึ่งทุกท่านนับเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์และรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติให้ธำรงอยู่คู่บ้านเมืองตลอดไป
**************************
สำนักประชาสัมพันธ์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
ประวัติ นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ (จิตรกรรม)
ประวัติ ประภ้สสร เสวิกุล (วรรณศิลปฺ)
http://www.abhakara.com/webboard/index.php?topic=47.0http://www.culture.go.th/subculture8/attachments/article/161/PAPATSROT%20SEVIKOON.pdf