จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
พฤศจิกายน 29, 2024, 09:39:55 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: นครชุมเมืองวัฒนธรรม  (อ่าน 11614 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1440


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: กรกฎาคม 21, 2014, 03:25:56 pm »

เมืองนครชุม
เมืองที่เจริญสูงสุดในลุ่มน้ำปิง นอกจาก เมืองเชียงทอง เมืองคลองเมือง เมืองแปบ เมืองคณฑี เมืองเทพนคร และเมืองไตรตรึงษ์แล้ว เมืองนครชุม เป็นเมืองสำคัญที่สุด แห่งหนึ่ง ที่เจริญรุ่งเรืองอยู่กว่าสองร้อยปี ตั้งแต่ปี พุทธศักราช 1800  ลักษณะตัวเมือง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปกำแพงเมือง สร้างคดเคี้ยวตามลำน้ำปิง กว้างประมาณ 400 เมตร ยาวประมาณ 2,900 เมตร มีคูเมือง 2 ชั้น กำแพงเมืองเป็นคันดิน 3 ชั้น ที่เรียกกันว่า ตรีบูร กำแพงเมืองทางทิศตะวันออก ปากคลองสวนหมาก ผ่านไปทางทิศใต้ของสะพานกำแพงเพชรไปสิ้นสุดที่บ้านหัวยาง กำแพงเมืองทางด้านลำน้ำปิงถูกน้ำกัดเซาะ พังทลายไปสิ้น
           แนวกำแพงเมือง บริเวณสถานีขนส่ง หรือบริเวณ หน้าโรงเรียนวชิรปราการวิทยาคม ยังมีแนวให้เห็นค่อนข้างชัด แต่กำลังถูกทำลายเกือบหมดสิ้น คูเมือง ถูกประชาชนบุกรุกปลูกที่อยู่อาศัย รุกล้ำโบราณสถาน อย่างไม่รู้ค่า เทศบาลตำบลนครชุม กำลังทำโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ คงจะไม่สายเกินไป ถ้าประชาชนช่วยกันอย่างจริงจัง เมืองนครชุมจะไม่เป็นแค่ตำนาน ที่ปรากฏหลักฐานในจารึกนครชุมเท่านั้น ถ้าภาครัฐ ภาคเอกชน ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
           เมืองนครชุม เจริญรุ่งเรืองสูงสุด ในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท โดยพระองค์เสด็จไปสถาปนาพระบรมธาตุและทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่เมืองนครชุม ที่เป็นตำนานแห่งประเพณีนบพระเล่นเพลง สืบต่อมาจนปัจจุบัน
 
           โบราณสถานและโบราณวัตถุ ในเมืองนครชุม มีทั้งในเมืองนครชุมและเขตอรัญญิก ในตัวเมือง มีวัดพระบรมธาตุ เป็นวัดประจำเมืองนครชุม ซึ่งน่าจะเป็นเมืองลูกหลวงในสมัยสุโขทัย ในบริเวณโรงเรียนวชิรปราการวิทยาคม สันนิษฐานว่า เป็นเขตพระราชฐาน ของเมืองนครชุม โบราณสถานอื่นๆ ไม่มีเหลือให้เห็น เพราะเมืองนครชุมใหม่สร้างซ้อนเมืองนครชุมเก่า ทำให้เมืองนครชุม ไม่มีหลักฐานใดๆให้เห็นนอกจากบ้านเรือนที่สร้างซ้อนทับบน เจดีย์ และโบสถ์ วิหาร
น่าเสียดายยิ่ง
           บริเวณอรัญญิก อยู่ห่างจากแนวกำแพงเมืองไปประมาณ 500 เมตร มีวัดสำคัญ หลายวัด อาทิ วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดหนองพิกุล วัดหนองลังกา วัดซุ้มกอ วัดหม่องกาเล และอีกหลายสิบวัดที่ถูกทำลาย ไปหมดสิ้น ด้วยฝีมือของมนุษย์ ในยุด 30 -40 ปีที่ผ่านมานี้เอง
           ป้อมทุ่งเศรษฐี เป็นป้อมที่งดงาม สร้างด้วยศิลาแลงทั้งหมด เป็นลักษณะป้อมจากยุโรป อยู่ในสภาพที่บูรณะ
ปฎิสังขรณ์ เรียบร้อยแล้ว อยู่ทางเข้าเมืองกำแพงเพชร น่าแวะชมอย่างที่สุด
           เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2449 พระพุทธเจ้าหลวง เสด็จประพาสนครชุมเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับชาวนครชุมให้หายหวาดกลัวไข้ป่าและโรคระบาด โดยเสด็จขึ้นที่บ้านพะโป้ และวัดพระบรมธาตุ ขึ้นเสวยพระกระยาหาร
ภาพถ่ายทางอากาศเมืองกำแพงเพชร
หาดทรายหน้าเมือง ล้วนเป็นรอยจารึกแห่งประวัติศาสตร์ ของชาวนครชุมทั้งสิ้น
           เมืองนครชุม อาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองสูงสุด ในอดีต เคย เมืองลูกหลวงแห่งราชอาณาจักรสุโขทัย เจริญรุ่งเรืองอยู่ประมาณ 200 ปี กลายเป็นเมืองร้าง ถูกลดชั้น เป็นตำบลเล็กๆตำบลหนึ่งในเมืองกำแพงเพชร แต่ทว่าภาพในอดีตแห่งเมืองนครชุม ยังเปล่งประกายเจิดจ้า ท้าทายนักท่องเที่ยว ให้เข้ามาเยี่ยมชมอย่างมิรู้ลืม?ฮืม??ปัจจุบันได้รับการดูแลจากเทศบาลตำบลนครชุมเป็นอย่างดี เพื่อเนรมิต อดีตเมืองที่ยิ่งใหญ่ใน ปี พ.ศ. 1800 ? 2000 ให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่งอย่าง ท้าทาย
คำขวัญเมืองนครชุม
พระบรมธาตุคู่บ้าน พระยาวชิรปราการคุ้มเมือง ป้อมทุ่งเศรษฐีลื่อเลื่อง กำแพงเพชรเมือง700ปี คลองสวนหมากเสด็จประพาส ทุ่งมหาราชบทประพันธ์ดี หลวงพ่ออุโมงค์เป็นศักดิ์ศรี คนดีศรีเมืองนครพระชุม
ความหมายของคำขวัญ ตำบลนครชุม
   พระบรมธาตุคู่บ้าน
 




พระบรมธาตุนครชุมมหาเจดีย์ทรงสูงใหญ่ สวยงามไปด้วยสถาปัตยกรรมและสีทองอร่ามทั้งองค์ เสมือนดั่งเจดีย์ ชเวดากองในเมืองพม่า เป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จำนวน 9 องค์ เมื่อได้เข้าไปนมัสการและบูชาแล้ว ดังได้พบกับพระพุทธเจ้าด้วยตนเอง เป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่อยู่คู่เมืองกำแพงเพชรมาตั้งแต่สมัยเป็นเมืองนครชุมกินเวลายาวนานมากกว่า 600 ปี และยังคงยั่งยืนสืบต่อกันมาเป็นองค์มหาเจดีย์แห่งศรัทธา จวบจนปัจจุบัน
ความในจารึกนครชุม กล่าวถึงการประดิษฐานพระบรมธาตุสรุปความว่า พระยาลือไทยโอรสพระยาเลอไทย พระนัดดาพระยารามราช เสวยราชที่เมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย ประมาณปี พ.ศ.๑๘๙๐ เมื่อเสวยราชย์แล้ว ท้าวพระยาทั้งหลายแต่งกระยาดงวาย ของฝากหมากปลามาไหว้อันยัดยัญอภิเษก เป็นท้าวเป็นพระญา ชื่อ ศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชาธิราช ทรงได้พระบรมสารีริกธาตุพร้อมกิ่งพระศรีมหาโพธิ จากลังกาทวีปใน ปี พ.ศ.๑๙๐๐ จึงทรงนำไปประดิษฐานในเมืองนครชุม และทรงจารึกไว้ว่า "...ผิผู้ใดได้ไหว้นบกระทำบูชาพระศรีรัตนมหาธาตุ และพระศรีมหาโพธินี้ว่าไซร้ มีผลอานิสงส์พร่ำเสมอดังได้นบตนพระเป็นเจ้าบ้างแล..."
   พระยาวชิรปราการคุ้มเมือง
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในตำแหน่งพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชรในขณะนั้นได้ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระบรมราชาที่ 4" เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2310 แต่ประชาชนทั่วไปยังนิยมเรียกพระองค์ว่า "พระเจ้าตากสิน" อันเป็นตำแหน่งเดิมคือ เจ้าเมืองตาก ก่อนที่พระองค์จะได้เลื่อนเป็นพระยาวชิรปราการ
ดังความว่า ได้บำเหน็จความดีความชอบในสงครามจึงโปรดให้เลื่อนเป็น พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชรแต่ยังไม่ทันได้ปกครองเมืองกำแพงเพชร ก็เกิดศึกกับพม่าครั้งสำคัญขึ้นจึงถูกเรียกตัวให้เข้ารับราชการในกรุง เพื่อป้องกันพระนครจนถึงปี พ.ศ. ๒๓๐๙
   
ป้อมทุ่งเศรษฐีลื่อเลื่อง
 
ป้อมทุ่งเศรษฐี เมืองกำแพงเพชร เป็นป้อมนอกเมืองกำแพงเพชร คนละฝั่งแม่น้ำปิง กับตัวเมืองก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบยุโรป คาดว่า เป็นชาติปอร์ตุเกศ มาสร้างให้ โดยขน ศิลาแลง มาจากฝั่งกำแพงเพชร มาทำป้อมปราการที่ทันสมัยและแข็งแกร่งที่สุดในสมัยนั้น
จากการขุดแต่งป้อมทุ่งเศรษฐี ไม่ปรากฏว่า มีบ้านเรือนอาศัยอยู่ภายในป้อม เหมือนตำนาน นางพิกุล ที่เล่ากันว่า นางพิกุล เป็นธิดา ของเศรษฐี ตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณป้อมแห่งนี้ และเป็นผู้สร้างวัดหนองพิกุล
ป้อมทุ่งเศรษฐี ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธินริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๑ ก่อนถึงตัวเมืองกำแพงเพชรเล็กน้อย อยู่นอกเมืองนครชุมทางด้านทิศใต้ เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่จะเห็นกำแพงศิลาแลงเป็นป้อม มีใบเสมาเหลืออยู่ ป้อมก่อด้วยศิลาแลงกว้าง ๘๓.๕ เมตร มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สูงประมาณ ๖ เมตร ตรงกลางแต่ละด้านมีช่องประตูเข้า ? ออกบริเวณกึ่งกลางป้อมทั้ง ๔ ด้าน ทางด้านในก่อเป็นเชิงเทินพอเดินหลีกกันได้ ตรงฐานป้อมใต้เชิงเทินเป็นห้องมีทางเดินต่อต่อกันได้ มีช่องมองอยู่ติดกับพื้น ก่อด้วยศิลาแลง กำแพงด้านนอกก่อเป็นผนังสูง ตอนบนสุดของกำแพงก่อเป็นรูปใบเสมา ใต้ใบเสมาทุกใบมีช่องซึ่งอาจจะใช้เป็นช่องปืน ส่วนตรงมุมกำแพงทั้ง ๔ มุม ทำเป็นป้อมรูปสี่เหลี่ยมยื่นออกมา ตอนล่างของแนวกำแพงมีช่องกุดทำเป็นวงโค้งยอดแหลม
ป้อมทุ่งเศรษฐี การก่อสร้างป้อมนี้มีความมั่นคงมาก แต่ด้านทิศเหนือถูกรื้อออกเสียด้านหนึ่ง จึงเหลือเพียง ๓ ด้าน บริเวณนี้มีวัดเก่าแก่หลายวัด เช่น วัดหนองพิกุล วัดซุ้มกอ วัดหนองลังกา เป็นต้น ที่สำคัญ ต่อนักเลงพระก็คือ เป็นบริเวณที่พบพระเครื่องลือชื่อของเมืองกำแพงเพชร เช่น พระซุ้มกอ ลีลาเม็ดขนุน ทุ่งเศรษฐี หรือกำแพงเขย่ง
ปัจจุบันกำแพงเหลืออยู่เพียงบางส่วน โดยบางส่วนนั้นได้ถูกรื้อออกเพื่อนำไปถมตลิ่งหน้าวัดพระบรมธาตุเจดียาราม เมื่อครั้งบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ ป้อมทุ่งเศรษฐีนี้ยังเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีการค้นพบพระเครื่องที่มีชื่อเสียง
ป้อมทุ่งเศรษฐี รอดจากการรื้อ เพราะมีการก่อสร้างถนน ผ่านป้อมอย่างหวุดหวิด เพราะทุกคนเห็นความสำคัญของป้อมทุ่งเศรษฐีแห่งนี้ ถ้าผ่านมาลองเข้าไปชมความยิ่งใหญ่ และแข็งแกร่งของป้อมนี้ ท่านจะมีความภูมิใจเป็นที่สุด
   กำแพงเพชรเมือง 700 ปี
 

ลักษณะตัวเมือง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปกำแพงเมือง สร้างคดเคี้ยวตามลำน้ำปิง ซึ่งกว้างประมาณ 400 เมตร ยาวประมาณ 2,900 เมตร มีคูเมือง 2 ชั้น กำแพงเมืองเป็นคันดิน 3 ชั้น ที่เรียกกันว่า ตรีบูร กำแพงเมืองทางทิศตะวันออกติดปากคลองสวนหมาก ผ่านไปทางทิศใต้ของสะพานกำแพงเพชรไปสิ้นสุดที่บ้านหัวยาง กำแพงเมืองทางด้านลำน้ำปิงถูกน้ำกัดเซาะพังทลายไปสิ้น
   
คลองสวนหมากเสด็จประพาส
 


คลองสวนหมาก สายโลหิตของชาวบ้านปากคลองใต้ ได้หล่อเลี้ยงชีวิตของคนปากคลองมาหลายร้อยปี ทั้งปากคลองเหนือ ปากคลองกลาง และปากคลองใต้คลองสวนหมากเป็นสายน้ำที่มาจากเทือกเขาโมโกจู ไหลเป็นเส้นทางลำเลียงไม้มาจากป่า สายน้ำเย็นมาก ไข้ป้าชุมที่สุด มีคำกล่าวว่า ถ้าเดินทางมาในลำน้ำปิง ทั้งขึ้นและล่อง ต้องหันหน้าไปทาง กำแพงเพชร ถ้าหันหน้ามาทางปากคลอง จะเป็นไข้ป่าตาย
ดังพระราชนิพนธ์จดหมายเหตุ ประพาสต้นกำแพงเพชรความว่า
 25 วันนี้ตื่นสายเพราะวานนี้อยู่ข้างจะฟกซ้ำ 4 โมงจึงได้ลงเรือเหลืองข้ามฟาก ไปฝั่งตะวันตก    ยังไม่ขึ้นถึงวัดพระธาตุ เลยไปคลองสวนหมาก ในคลองนี้น้ำไหลเชี่ยวแต่น้ำใส เพราะเป็นลำห้วย มีคลองแยกข้างขวามือ ต้นทางที่จะเข้าไปเรียกว่าแม่พล้อ ถ้าไปตามลำคลอง 3 วันจนถึงป่าไม้ แต่มีหลักตอมาก เขาขึ้นเดินไปทางวันเดียวถึงป่าไม้นี้พะโป้กะเหรี่ยงในบังคับอังกฤษเป็นคนทำ เมียเป็นคนไทยชื่ออำแดงทองย้อยเป็นบุตรผู้ใหญ่บ้านวัน และอำแดงไทตั้งบ้านเรือนอยู่ติดกัน ไปขึ้นถ่ายรูปที่หน้าบ้าน 2 บ้านนี้ แล้วจึงกลับออกมาจอดกินกลางวันที่หาดกลางน้ำ คลองสวนหมากนี้ตามลัทธิเก่าถือว่าเป็นที่ร้ายนัก จะขึ้นล่องต้องเมินหน้าไปทางทิศตะวันออก เพียงแต่แลดูก็จับไข้ ความจริงนั้นเป็นที่มีไข้ชุมจริง เพราะเป็นน้ำลงมาแต่ห้วยในป่าไม้ แต่เงินไม่เป็นเครื่องห้ามกันให้ผู้ใดกลัวความตาย แซงพอกะเหรี่ยงซึ่งเรียกว่าพญาตะก่า พี่พะโป้มาทำป่าไม้ราษฎรอยู่ฟากตะวันออกก็พลอยข้ามไปหากินมีบ้านเรือนคนมาก ความกลัวเกรงก็เสื่อมไป
   ทุ่งมหาราชบทประพันธ์ดี
 
หมายถึง ทุ่งมหาราช คือนวนิยาย ของนายมาลัย ชูพินิจ เป็นนวนิยายที่ฉายภาพของเมืองนครชุมอย่างชัดเจน
(เรียมเอง เป็นนามปากกาของ ครูมาลัย ชูพินิจ ยอดนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของไทย)
ครูมาลัย เขียนเรื่องนี้จากความทรงจำรำลึกความสำนึกในบุญคุณ และความรักในมาตุภูมิดังที่กล่าวไว้ในคำนำหนังสือว่าเรื่องทุ่งมหาราชเป็น ?เสมือนบันทึกของเหตุการณ์ประจำยุคประจำสมัยซึ่งผ่านมาในชีวิตของข้าพเจ้าและก่อนหน้าข้าพเจ้าขึ้นไป.
   ? ทุ่งมหาราช? เป็นนวนิยายที่บรรยายให้เห็นสภาพชีวิต เหตุการณ์ บรรยากาศและสิ่งแวดล้อม ในสมัยนั้นของบ้านเมือง ซึ่งมีจุดเน้นอยู่ที่ชุมชนบ้านคลองสวนหมาก ริมฝั่งแม่น้ำปิง ตลอดสายที่ผ่านกำแพงเพชร จนถึงปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ และกรุงเทพมหานครตามลำดับ
        บ้านคลองสวนหมากชุมชนน้อย ๆ แห่งหนึ่งในชนบท ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำคลองสวนหมากและแม่น้ำปิงซึ่งเป็นจุดที่คลองสวนหมากไหลมาบรรจบกับแม่น้ำปิง เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยทรัพยากรนานาชนิดเหมาะที่ผู้คนจะตั้งหลักแหล่งทำมาหากิน...ชุมชนชนบทแห่งนี้ บ้านคลองสวนหมาก เมืองนครชุม หรือ นครพระชุมโบราณ ที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาแล้วในสมัยโบราณสมัยสุโขทัย มีมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษเหลือไว้ให้คนรุ่นหลังภาคภูมิใจเป็นอันมากนับตั้งแต่กำแพงเมืองทุ่งเศรษฐี เจดีย์ วิหารโบราณสถานต่าง ๆ

   

หลวงพ่ออุโมงค์เป็นศักดิ์ศรี
 
หลวงพ่ออุโมงค์เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน (ก่อนสุโขทัย) ขนาดหน้าตักกว้าง 2.87 เมตร สูงเกือบ 3 เมตร มีพุทธลักษณะที่งดงามยิ่งเป็นหลักฐานสำคัญประกอบข้อเท็จจริงถึงความสัมพันธ์ระหว่างกำแพงเพชรและหัวเมืองฝ่ายเหนือ
หลวงพ่ออุโมงค์ พระพุทธรูป สมัยเชียงแสน ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของ จ.กำแพงเพชร พุทธลักษณะงดงาม บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่าง เมืองกําแพงเพชรและอาณาจักรล้านนาในอดีต โดยประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหาร   จากคำบอกเล่าได้กล่าวว่า ได้พบหลวงพ่ออุโมงค์ ในบริเวณเนินดินลักษณะคล้ายจอมปลวก ซึ่งชาวบ้านได้ขุดและพบโดยบังเอิญ โดยปรากฏลักษณะเหมือนประดิษฐานอยู่ภายในอุโมงค์ จึงเป็นที่มาของชื่อ หลวงพ่ออุโมงค์
   คนดีศรีเมืองนครพระชุม

เมืองนครชุม เดิมเรียกขานกันว่าเมืองนครพระชุม ตามจารึกหลักที่ 8 อาจหมายถึง เมืองที่มีพระพุทธศาสนารุ่งเรืองและเมื่อจะสิ้นพระพุทธศาสนา บรรดาพระบรมธาตุที่ประดิษฐานตามที่ต่าง ๆ ก็จะมาชุมนุมที่เมืองนครชุม จึงเรียกขานกันว่า นครพระชุม ประชาชนที่ทำมาหากินในเมืองนครชุมรักชาติบ้านเมือง ทำให้เมืองนครชุมเจริญขึ้นเป็นลำดับ แต่ก็สามารถรักษาวัฒนธรรมประเพณีไว้ได้อย่างน่ายกย่อง เมืองนครชุมจึงเป็นเมืองของคนดี ที่ใฝ่ในธรรมประพฤติในศีลเสมอ

   สถานท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมนครชุม
นครชุม ชุมชนโบราณแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
     บนเส้นทาง..ถนนสายพหลโยธิน หลายคนที่ชื่นชอบการเดินทาง มักจะมุ่งหน้าสู่ประตูเมืองเหนือ..เชียงใหม่? เชียงราย คือดินแดนที่นักท่องเที่ยวใฝ่ฝัน มีใครจะคิดบ้าง? ที่นี่...หลักกิโลเมตรที่ 357ไม่ว่าจะเดินทางจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ หรือเชียงใหม่ลงกรุงเทพ เมืองที่น่าสนใจในอดีต เมืองแห่งประวัติศาสตร์ เคียงคู่เมืองสุโขทัยและศรีสัชชนาลัย เมืองที่เลื่องลือในอดีตชื่อ ชากังราว หรือกำแพงเพชรในปัจจุบัน ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี องค์การยูเนสโกให้การรับรองว่าเป็นเมืองมรดกโลก
 
        
        กำแพงเพชร เป็นเมืองเก่าที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวารวดี เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณหลายเมือง นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่สองที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ครองเมือง มีบรรดาศักดิ์เป็น " พระยาวชิรปราการ" ตามประวัติศาสตร์ กล่าวว่ากำแพงเพชรเป็นเมืองในปกครองของสุโขทัย มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง เดิมเรียกชื่อว่า "เมืองชากังราว" มีเมืองบริวารรายล้อมอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ไตรตรึงษ์ เทพนคร ฯลฯ การที่กำแพงเพชรเป็นเมืองหน้าด่านรับศึกสงครามในอดีตอยู่เสมอ จึงเป็นเมืองยุทธศาสตร์มีหลักฐานที่แสดงให้เห็น ว่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย เช่น กำแพงเมือง คูเมือง ป้อมปราการ วัดโบราณ มีหลักฐานให้สันนิษฐานว่า เดิมเคยเป็นที่ตั้งของเมือง 2 เมือง คือ เมืองชากังราว และเมืองนครชุม โดยเมืองชากังราวสร้างขึ้นก่อน ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง พระเจ้าเลอไท กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์สุโขทัย เป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงบันทึกเรื่อง กำแพงเมืองไว้ว่า ?เป็นกำแพงเมืองที่เก่าแก่ มั่นคง ยังมีความสมบูรณ์มาก และเชื่อว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย? ปัจจุบันจังหวัดกำแพงเพชรเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์มีโบราณสถานเก่าแก่ซึ่งก่อสร้างด้วยศิลาแลงหลายแห่งรวมอยู่ใน " อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร" ได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2534
           กลุ่มโบราณสถานที่เรียกว่า บริเวณอรัญญิก ของเมืองนครชุมอยู่ทางทิศใต้ของเมือง ห่างจากแนวกำแพงเมืองออกไปประมาณ 500 เมตร กลุ่มวัดบริเวณนี้แตกต่างจากกลุ่มวัดเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร คือส่วนใหญ่นิยมก่อสร้างด้วยอิฐ ขนาดสิ่งก่อสร้างไม่ใหญ่โตมากนัก และรูปแบบเหมือนกันอย่างมากกับที่พบในเมืองเก่าสุโขทัยและศรีสัชนาลัย วัดที่สำคัญ เช่น วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดหนองพิกุล วัดหนองลังกา วัดซุ้มกอ วัดหนองพลับ(หนองยายช่วย) วัดหม่องกาเลและโบราณสถานที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งอยู่นอกเมืองด้านทิศใต้ คือ ป้อมทุ่งเศรษฐี มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยศิลาแลงทั้งหมด
 
วัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง
       เป็นวัดที่ตั้งอยู่ภายในเมืองนครชุม สันนิษฐานว่าสร้างมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดังความที่ปรากฏในจารึกหลักที่3ศิลาจารึกนครชุม) กล่าวถึงพระมหาธรรมราชาที่ 1(ลิไทย) เสด็จฯไปทรงสร้างพระธาตุและทรงปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ที่เมืองนครชุม ใน พ.ศ.1900 พระธาตุที่กล่าวไว้ในจารึกเชื่อกันว่าอยู่ที่วัดพระบรมธาตุแห่งนี้ เจดีย์ที่วัดพระบรมธาตุเดิมมี3องค์ องค์กลางเป็นรูปพระเจดีย์ไทย (น่าจะหมายถึงพระเจดีย์ทรงดอกบัวหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์) ฝีมือช่างสมัยสุโขทัย แต่ที่พบในปัจจุบันเป็นแบบพระเจดีย์พม่าเพราะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชานุญาตให้พ่อค้าชาวพม่าชื่อ ?พญาตะก่า? ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ ซึ่งชาวพม่าผู้ศรัทธานั้นได้สร้างตามแบบเจดีย์พม่า และมีขนาดใหญ่กว่าองค์เดิม
                ?พระยาลือไทราช ผู้เป็นลูกพระยาเลอไท เป็นหลานแก่พระยารามราช เมื่อได้เสวยราชย์ในเมืองศรีสัชนาลัย สุโขทัย ได้ราชาภิเษกเป็นท้าวพระยาขึ้นชื่อศรีสุริยพงศ์ มหาธรรมราชาธิราช หากเอาพระศรีรัตนมหาธาตุอันนี้มาสถาปนาในเมืองนครชุมปีนี้นั้น พระมหาธาตุอันนี้ใช้ธาตุอันสามานต์ คือ พระธาตุแท้จริงแล้ เอาลุกแต่ลังกาทวีปพู้นมาดายเอาทั้งพืช พระศรีมหาโพธิ์อันพระพุทธเจ้าเราเสด็จอยู่ใต้ต้นและผจญขุนมาราธิราชได้ปราบแก่สัพพัญญุตญาณเป็นพระพุทธเจ้ามาปลูกเบื้องหลังพระมหาธาตุนี้ ผิผู้ใดได้ไหว้นบกระทำบูชาพระศรีรัตนมหาธาตุและพระศรีมหาโพธิ์นี้ว่าไซร้มีผลอานิสงส์พร่ำเสมอ ดังได้นบตนพระเป็นเจ้าบ้างแล?ข้อความจากจารึกนครชุมที่คัดมาได้บอกประวัติความเป็นมาของวัดพระบรมธาตุได้ชัดเจนที่สุด เป็นวัดที่ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระศรีมหาโพธิ์ มีอายุเก่าแก่กว่า 642 ปี คือตั้งแต่ปี พ.ศ.1900 สมัยพระมหาธรรมราชิลิไทแห่งสุโขทัยวัดพระบรมธาตุเป็นวัดที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับเมืองนครชุม เป็นวัดประจำเมืองเหมือนกับวัดพระแก้วประจำเมืองกำแพงเพชร วัดพระบรมธาตุขึ้นทะเบียนเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 1858 ในสมัยต้นกรุงสุโขทัย เมื่อตีความจากจารึกนครชุม วัดพระบรมธาตุควรจะสร้างเมื่อ พ.ศ. 1762 ในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เจดีย์มหาธาตุเมืองนครชุมเดิมมีสามองค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน สันนิษฐานว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนรามคำแหง และพญาลิไท สร้างเป็นพุทธเจดีย์ประจำพระองค์วัดพระบรมธาตุเจริญรุ่งเรืองมากว่า 200 ปี จนกระทั่งเมืองนครชุมถึงภาวะล่มสลายตามกฏแห่งอนิจจัง เพราะแม่น้ำปิงกัดเซาะแนวกำแพงเมืองนครชุมพังพินาศ ทำให้ความเจริญทางพุทธจักรและอาณาจักรได้สูญสิ้นไปจากเมืองนครชุม เมืองฝั่งตรงข้ามทางทิศตะวันออกคือเมืองกำแพงเพชรได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ วัดพระบรมธาตุร้างมากว่า 300 ปี จนกระทั่งถึงต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ วัดพระบรมธาตุมีหลักฐานที่ชัดเจนอีกครั้ง ใน พ.ศ. 2342 สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) แห่งวัดระฆังโฆษิตาราม ได้เสด็จมาเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร พักที่วัดเสด็จ ได้อ่านจารึกนครชุมที่ประดิษฐาน ณ อุโบสถวัดเสด็จ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ได้ทราบว่ามีเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ที่ริมแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตกตรงข้ามเมืองเก่าสามองค์ ได้ให้เจ้าเมืองกำแพงเพชร พระยารามรณรงค์สงคราม (น้อย) ได้ป่าวร้องให้ประชาชนแผ้วถาง พบเจดีย์ตามจารึกจริงและปฏิสังขรณ์ขึ้น
 
    
          จากพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้นกำแพงเพชร เมื่อ พ.ศ.2449 ทรงบันทึกถึงวัดพระบรมธาตุไว้ว่า??ครั้งแรกที่ได้พบเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุและพระพิมพ์เหล่านี้เดิม ณ ปีระกา เอกศก จุลศักราช 1211 (พ.ศ. 2342) สมเด็จพุฒาจารย์โต วัดระฆัง กรุงเทพขึ้นมาเยี่ยมญาติ ณ เมืองกำแพงเพชร ได้อ่านแผ่นจารึกอักษรไทย ที่ประดิษฐานอยู่ ณ อุโบสถวัดเสด็จได้ความว่า มีพระเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมธาตุอยู่ริมแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตก ตรงข้ามเมืองเก่า 3 องค์ ขณะนั้นพระยากำแพง (น้อย) ผู้ว่าราชการเมือง ได้จัดการค้นคว้าพบวัดและเจดีย์สมตามอักษรในแผ่นศิลา จึงป่าวร้องบอกบุญราษฎรช่วยกันแผ้วถางและปฏิสังขรณ์ขึ้น เจดีย์ที่พบมี 3 องค์ใหญ่ ซึ่งบรรจุพระบรมธาตุชำรุดบ้างทั้ง 3 องค์?
 
      
     จากหลักฐานบันทึกการตรวจการณ์คณะสงฆ์ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2456 ของสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณ   วโรรส ว่าเสด็จทอดพระเนตรโบสถ์ โบสถ์เล็กเตี้ย ฝาผนังตึก ในโบสถ์ไม่มีพระประธานเมื่อทรงสักการะแล้ว ดำรัสสั่งให้พระครูเมธีคุณานุรักษ์เชิญพระพุทธรูปที่บ้านโคน องค์ที่ทรงเลือกมาประดิษฐาน ณ อุโบสถนี้จากหลักฐานที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือว่าด้วยระยะทางล่องลำน้ำปิง ดังนี้กลับมาแวะที่วัดมหาธาตุ ถามพระครูถึงเรื่องศิลาจารึกของพระมหาธรรมราชาลิไท คือ ศิลาจารึก หลักที่ 3 จารึกเมื่อ พ.ศ. 1900 ซึ่งอยู่ในหอสมุดฯ ทราบว่าได้ไปจากเมืองกำแพงเพชรแต่ยังไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด ได้ทราบจากพระครูชัดเจนว่า ศิลาจารึกแผ่นนั้นเดิมอยู่ที่วัดมหาธาตุแห่งนี้เอง ตั้งอยู่ที่มุขเด็จ วิหารหลวง ภายหลังผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพชรเอาไปรักษา ที่วัดเสด็จแล้วจึงส่งลงไปกรุงเทพ พระครูได้พาไปดูฐานที่ตั้งศิลาจารึกแผ่นนั้นยังอยู่ที่มุขเด็จ เป็นศิลาแลงแท่งใหญ่ พิเคราะห์ดูช่องพอได้กับขนาดศิลาจารึกแผ่นนั้น พระมหาธรรมราชาลิไททำไว้ที่วัดนี้และเมืองนี้ครั้งสมัยสุโขทัยเรียกว่าเมืองนครชุมไม่มีที่สงสัย วิหารหลวงหลังนี้เป็นวิหารเก้าห้อง ก่อด้วยแลงมีกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลงทั้งแท่ง พระครูบอกว่าเดิมกำแพงชำรุด หักพัง ก้อนศิลาแลงกองเกลื่อนกลาดอยู่ เมื่อซ่อมพระมหาธาตุ ผู้ซ่อมเอาช้างลากก้อนแลงเหล่านั้นลงไปทิ้งน้ำทำเขื่อนกันน้ำเซาะ ยังปรากฏจนทุกวันนี้ องค์พระมหาธาตุนั้น พระครูบอกว่าฐานล่างเป็นศิลาแลง ส่วนพระเจดีย์ก่อด้วยอิฐแบบอย่างเจดีย์สุโขทัย 3 องค์ อยู่กลางตรงศูนย์กลางพระวิหารองค์หนึ่ง ต่อมาทางตะวันออกองค์หนึ่ง ทางตะวันตกวิหารองค์หนึ่งบนฐานใหญ่เดียวกัน อยู่มามีพม่าพ่อค้าไม้คนหนึ่งเรียกกันว่า ?พระยาตะก่า? ขออนุญาตปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุ ครั้งได้รับอนุญาตจากกรุงเทพแล้ว พม่าคนนั้นศรัทธาทำพระเจดีย์ใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม จึงรื้อองค์เดิมทิ้งเสียทั้ง 3 องค์ พระครูได้ทันเห็นแล้วจึงเอาเข้าบรรจุไว้ใน พระเจดีย์ใหม่ ซึ่งพม่าผู้ศรัทธานั้นสร้างตามพระเจดีย์พม่า ก็ไม่เห็นเจ้าเมืองห้ามปราม พระมหาธาตุเมืองกำแพงเพชร จนกลายเป็นพระเจดีย์พม่าอยู่จนบัดนี้ มีงานไหว้พระมหาธาตุเป็นงานประจำปีทุกปี ในวันขึ้น 14 ค่ำจนถึง แรม 15 ค่ำ
 

     หมายเหตุ พระยาตะก่า บูรณะเจดีย์วัดพระบรมธาตุยังไม่แล้วเสร็จ พระยาตะก่าเสียชีวิตก่อน พะโป้น้องชายได้บูรณะต่อมา โดยได้ไปนำยอดฉัตรจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่ามาประดิษฐ์ที่ยอดเจดีย์พระธาตุ โดยได้บริจาคเงินสร้างมากกว่าผู้ว่าราชการสมัยนั้น (เป็นเหตุให้รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสคลองสวนหมาก เพราะอยากพบ คหบดีที่บริจาคเงินจำนวนมากสร้างพระเจดีย์วัดพระบรมธาตุ)วัดพระบรมธาตุนครชุม มีหลักฐานจากแหล่งต่างๆ ที่ชัดเจนแสดงให้เห็นเป็นวัดที่เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองนครชุมอย่างแท้จริง ปัจจุบัน วัดพระบรมธาตุเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ได้รับการสถาปนาตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2509 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ครั้งหลังเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2497 เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระปริยัติธรรมสำหรับพระภิกษุและสามเณร
     สิ่งสำคัญที่สุดของวัดพระบรมธาตุ คือ
          1.พระบรมสารีริกธาตุ บรรจุอยู่ในสำเภาเงินมีพระบรมธาตุอยู่ถึง 9 องค์ ปัจจุบันประดิษฐานไว้ในองค์พระบรมธาตุ มีความเชื่อว่า ผู้ใดได้บูชาพระบรมธาตุเหมือนกับได้นบพระพุทธเจ้าด้วยตนอง ทำให้ประชาชนพากันมาสักการบูชาพระบรมธาตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันมาฆบูชาและวันสงกรานต์
          2.พระศรีมหาโพธิ์ ชาวกำแพงเพชรเชื่อกันว่า พระศรีมหาโพธิ์ที่พระยาลิไท ทรงปลูกเมื่อ พ.ศ. 1900 เป็นต้นโพธิ์ขนาดมหึมา คนโอบ 9 คน ในพุทธศาสนาเดิมกล่าวว่า ถ้าผู้ใดไหว้บูชาต้นโพธิ์ก็เสมือนได้บูชาพระพุทธเจ้า เช่นกัน แต่ปัจจุบันความเชื่อนี้ได้จางหายไปจากสังคมไทย
          3.โบราณวัตถุต่าง ๆ จากอดีตอันเก่าแก่ของวัดทำให้วัดเป็นสถานที่ซึ่งมีโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก เมื่อมีการรื้อถอน เพื่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ จึงมีโบราณวัตถุอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ พระพุทธรูป เครื่องใช้โบราณต่างๆ ปัจจุบันทางวัดเก็บรักษาไว้และในอนาคตเจ้าอาวาส มีโครงการจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อรักษาโบราณวัตถุดังกล่าวเอาไว้ให้คงอยู่ต่อไป
          4.อาคารโรงเรียนปริยัติธรรมก่อสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นสถานศึกษาของพระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษา ณ วัดพระบรมธาตุ และวัดใกล้เคียง สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง ยังคงสภาพใช้การได้ดี ปัจจุบันถึงแม้จะไม่ได้ใช้เป็นสถานที่เรียนหนังสือแล้วก็ตามได้ใช้สถานที่นี้เป็นหอฉันของพระ อำนวยประโยชน์ให้กับพระภิกษุสามเณรวัดพระบรมธาตุในปัจจุบันในวันเพ็ญเดือน 3 วัดได้จัดนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์เป็นประจำทุกปี ปัจจุบันเมื่อจังหวัดกำแพงเพชรได้ฟื้นฟูงานประเพณี ?นบพระเล่นเพลง? ของจังหวัดขึ้น ก็ได้จัดขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคมานบพระบรมธาตุทุกปี นับเป็นการให้ความสำคัญแก่วัดพระบรมธาตุให้มีความสำคัญยิ่งเช่นในอดีตที่ผ่านมาอีกวาระหนึ่ง
 
 
วัดซุ้มกอ
   เมืองนครชุม...หรือนครพระชุม สร้างในสมัยสุโขทัย เจริญรุ่งเรืองสูงสุด ในรัชกาลของพระมหาธรรมราชาลิไท ประกอบด้วย สองเขต เหมือนกับเมืองโบราณ โดยทั่วไป คือเขตเมืองที่เรียกว่าคามวาสี และเขตป่าที่เรียกว่าอรัญญิก  บริเวณนี้เรียกกันในสมัยโบราณว่า ดงเศรษฐีเมื่อป่าไม้ถูกทำลาย ไปจนหมดสิ้น จึงเรียกกันว่าทุ่งเศรษฐี เป็นอาณาเขต ที่พบ กรุพระเครื่องที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมืองกำแพงเพชร เรียกตามแหล่งที่พบว่า พระทุ่งเศรษฐี
   วัดซุ้มกอ อยู่ในเขตอรัญญิกบริเวณทุ่งเศรษฐี  บริเวณตรงกันข้ามกับสถานีขนส่งจังหวัดกำแพงเพชร   ประกอบด้วยป้อมทุ่งเศรษฐี  วัดหนองพิกุล วัดหนองลังกา วัดหนองพุทรา วัดหนองยายช่วย วัดหม่องกาเล และวัดเจดีย์กลางทุ่ง    .....วัดซุ้มกอ  ที่เรียกว่าวัดซุ้มกอเพราะ พบพระเครื่อง ที่วงการพระเครื่องเรียกกันว่า พระซุ้มกอ ทุกพิมพ์ คือพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก และพิมพ์คะแนน จำนวนมากที่วัดนี้....
   เนื่องจาก วัดซุ้มกอ มีพระซุ้มกอ ที่มีชื่อเสียง เป็นหนึ่งในเบญจภาคี สุดยอดแห่งจักรพรรดิ์พระเครื่อง ทำให้โบราณสถานและโบราณวัตถุ ในบริเวณวัดซุ้มกอถูกทำลายจนหมดสิ้น ที่พบ ก่อนการบูรณะคือเนินดิน ที่เป็นเจดีย์ทรงลังกา และเนินวิหารขนาดเล็ก มีเจดีย์ราย รอบเจดีย์ใหญ่ แต่ไม่เหลือแม้กระทั่งซาก  พระเครื่อง พระบูชา พระพุทธรูป ถูกขนย้ายไปจากบริเวณวัดซุ้มกอทั้งหมด
รอบๆวัด มีคูน้ำล้อมรอบ เป็นลักษณะ อุทกสีมา  ตามคตินิยมแบบลังกา วัดบริเวณนี้ทั้งหมด มีอุทกสีมาเหมือนกันทั้งหมด ยืนยันได้ว่าสร้าง ในสมัยใกล้เคียงกัน
..........วัดซุ้มกอ ควรจะเป็นหน้าตาของเมืองกำแพงเพชร แต่หาคนที่รู้จักวัดซุ้มกอได้ยากยิ่ง แม้วัดซุ้มกออยู่ริมทาง..ถนนเข้าเมืองกำแพงเพชร... แต่ความทรุดโทรมของวัด...จึงไม่ได้ มีผู้คนและนักท่องเที่ยวสนใจแต่อย่างใด
......จังหวัดกำแพงเพชร กำลังจะปรับปรุงภูมิทัศน์ ของวัดซุ้มกอใหม่ ก่อนที่ วัดซุ้มกอ จะถูกถมหายไป หรือกลายเป็น บึง บ่อ ขนาดใหญ่  น่าเสียดายยิ่ง ชาวกำแพงเพชร ชาวนครชุมควร ได้ดูแลรักษา สิ่งที่บรรพบุรุษ สร้างไว้ให้ งดงามและเหมาะสมกับการเป็นเมืองมรดกโลก
.......ก่อนที่วัดซุ้มกอ ตำนานแห่งพระซุ้มกอ จะอันตรธานไปกับความเจริญ ทางวัตถุ  ของเมืองนครชุม ขอชาวเราได้ช่วยกัน ดูแลบ้านเมืองของเรา ให้เหมาะสมที่สุด....กับที่มาแห่งพระซุ้มกอ....พระที่
คนทั้งประเทศ ตัองการ....

 
วัดหนองพิกุล...
.......วัดหนองพิกุลแห่งนี้ ชาวบ้านเล่าต่อกันมาว่า ผู้สร้างวัดหนองพิกุล คือนางพิกุล ธิดาของเศรษฐีใหญ่แห่งบ้านป้อมเศรษฐี มาสร้างวัดนี้ จึงเรียกกันตามผู้สร้างว่าวัดหนองพิกุล วัดนี้จึงมีลักษณะสวยงามอ่อนช้อย มีลักษณะเหมือนสตรี และที่สำคัญวัดหนองพิกุล ได้ขุดพบพระเครื่องที่เรียกกันว่าพระนางกำแพงที่งดงามจำนวนมาก ทำชื่อเสียงให้แก่ชาวกำแพงเพชรมาตลอดนับศตวรรษ
....บางตำราว่าที่เรียกว่าวัดหนองพิกุลเพราะ บริเวณวัดมีต้นพิกุล ขนาดใหญ่หลายต้น และมีหนองน้ำโดยรอบที่เรียกกันว่า อุทกสีมา เลยเรียกรวมกันว่าวัดหนองพิกุล บริเวณวัดหนองพิกุลมีบ่อน้ำโบราณขนาดใหญ่ ที่ก่อด้วยอิฐ อายุประมาณ 700 ปี
.....วัดหนองพิกุลเป็นหน้าตาของ เมืองนครชุมและเมืองกำแพงเพชรสวยงามและแปลกกว่าทุกวัด เป็นส่วนหนึ่งของเมืองมรดกโลก ที่ควรจะได้ดูแลรักษามิให้ใครมาทำลาย หรือทำให้ภูมิทัศน์เสียไป
     เป็นวัดที่สร้างขึ้นในกลุ่มอรัญญิกนอกเมืองทางทิศใต้ แผนผังของวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูน้ำโดยรอบทั้ง 4 ด้าน หรือที่เรียกว่า ?อุทกสีมา? สิ่งก่อสร้าง ภายในวัดแตกต่างจากวัดแห่งอื่นๆ คือ การสร้างมณฑปอยู่หลังวิหารทำหน้าที่เป็นเจดีย์ประธานของวัด ลักษณะมณฑปเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยม ฐานสูงประมาณ 1.50 เมตร ย่อเหลี่ยมไม้สิบสองทั้งที่ฐานและตัวอาคาร เครื่องบนพังลงหมด เดิมเป็นเครื่องไม้ ใช้กระเบื้องดินเผาแบบตะขอเป็นกระเบื้องมุงหลังคา ทรงหลังคาเป็นแบบมณฑปยอดแหลม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ ลักษณะมณฑปแบบนี้เหมือนกับมณฑปวัดศรีชุมมณฑปวัดตระพังทองหลางกรุงสุโขทัย ด้านข้างและด้านหลังมณฑปนอกกำแพงแก้วมีฐานวิหาร 1 หลัง สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้คงสร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ชาวบ้านเล่าต่อกันมาว่า ผู้สร้างวัดหนองพิกุล คือนางพิกุล ธิดาของเศรษฐีใหญ่แห่งบ้านป้อมเศรษฐี มาสร้างวัดนี้ จึงเรียกกันตามผู้สร้างว่าวัดหนองพิกุล วัดนี้จึงมีลักษณะสวยงามอ่อนช้อย มีลักษณะเหมือนสตรี และที่สำคัญวัดหนองพิกุล ได้ขุดพบพระเครื่องที่เรียกกันว่าพระนางกำแพงที่งดงามจำนวนมาก ทำชื่อเสียงให้แก่ชาวกำแพงเพชรมาตลอดนับศตวรรษ บางตำราว่าที่เรียกว่าวัดหนองพิกุลเพราะ บริเวณวัดมีต้นพิกุล ขนาดใหญ่หลายต้น และมีหนองน้ำโดยรอบที่เรียกกันว่า อุทกสีมา เลยเรียกรวมกันว่าวัดหนองงพิกุล บริเวณวัดหนองพิกุลมีบ่อน้ำโบราณขนาดใหญ่ ที่ก่อด้วยอิฐ อายุประมาณ 700 ปี
 

วัดเจดีย์กลางทุ่ง
เมืองนครชุม ในช่วงที่เจริญรุ่งเรืองสูงสุด ในสมัยสุโขทัย มีการสร้างเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรืองทรงดอกบัวตูม ไว้หลายแห่ง อาทิ วัดพระบรมธาตุนครชุม เดิมเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ...เจดีย์ที่ บ้านโนนม่วง และเจดีย์ที่วัดเจดีย์กลางทุ่ง ล้วนเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ทั้งสิ้น... นอกจากที่นครชุมมีที่วัดวังพระธาตุ นครไตรตรึงษ์ วัดกะโลทัย  ท้ายเมืองกำแพงเพชร แม้ที่วัดช้างรอบ ก่อมีการก่อเจดีย์ทรงลังกาซ้อนเจดีย์ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ไว้
เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นอิทธิพลของ อาณาจักรสุโขทัยอย่างแท้จริง เมื่อสุโขทัยสิ้นอำนาจและสิ้นความสำคัญลง มีการสร้างเจดีย์ทรงระฆังครอบไว้หลายแห่ง
วัดเจดีย์กลางทุ่ง เดิมชื่อวัดอะไร ไม่ปรากฏหลักฐาน เดิมเห็นแต่ มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่กลางทุ่งนา จึงเรียกขานกันว่าวัดเจดีย์กลางทุ่ง ลักษณะของวัดเจดีย์กลางทุ่ง น่าจะสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 18- 19 ในสมัยสุโขทัยเรืองอำนาจ มีคูน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบ ทั้งสี่ด้านที่เรียกกันว่า อุทกสีมา ภายในอุทกสีมา มีวิหารขนาดใหญ่ ลักษณะค่อนข้างแปลก เกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัสตุรัส และอยู่ต่ำกว่าปกติ ด้านหลังมีเจดีย์ประธาน ที่เป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ขนาดใหญ่ ที่ค่อนข้างสมบูรณ์และสมส่วน สร้างด้วยอิฐที่ได้จากดินเหนียวบริเวณทุ่งเศรษฐี ลานประทักษิณรอบๆเจดีย์ มีขนาดกว้างมาก ทำศาสนพิธี ได้อย่างสะดวกสบาย มีฐานเขียงสี่เหลี่ยม
ซ้อนกันลดหลั่นอย่างสวยงาม รับฐานบัวแก้วและอกไก่ ส่วนยอดสุดหักตกลงมาไม่เห็นมีหลักฐาน นับว่าเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ขนาดใหญ่ ที่งดงามมาก เป็นสัญญลักษณ์ของเมืองนครชุมเลยทีเดียว
   รอบๆ เจดีย์ประธาน มีเจดีย์รายที่เห็นมีหลักฐานเหลืออยู่เพียงองค์เดียว นอกนั้นไม่เห็นกุฏิ ศาลา หรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ถูกทำลายไปสิ้น เพราะที่วัดเจดีย์กลางทุ่งมีพระเครื่องตระกูลทุ่งเศรษฐีที่มีชื่อเสียงมาก คือพระกำแพงซุ้มกอ พระกำแพงนางพญา และพระกำแพงเขย่ง  จึงทำให้ โบราณสถานโบราณวัตถุถูกขุดค้นทำลายลง
   การก่อสร้างถนนที่ สูงมาก ทำให้ภูมิทัศน์ ของวัดเจดีย์กลางทุ่งเสียไป...ด้อยความสง่างามลง ไม่งดงามเหมือนแต่ก่อน ถ้ามีการถมที่ดิน ขนาดเท่าถนนด้วยแล้ว วัดเจดีย์กลางทุ่ง จะหมดความเป็นมรดกโลกทันที ขอให้ได้ระมัดระวัง ความเจริญทางวัตถุ อย่าได้บดบังทัศนียภาพทางอารยธรรม
ที่เป็นรากเหง่าของตนเอง การเห็นประโยชน์ส่วนตนมากเกินไป การไม่แบ่งปันสังคมแห่งอารยธรรม จะเกิดความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ชนิดที่อับอายไปทั้งโลก คือการถูกถอดถอนจากการเป็นเมืองมรดกโลก ทั้งที่ประเทศไทยมีมรดกโลกทางวัฒนธรรม เพียง 3แห่ง คือที่บ้านเชียง ที่อยุธยา และที่กำแพงเพชร สุโขทัย และศรีสัชนาลัยเท่านั้น....ขอให้ใคร่ครวญให้จงดี
 
วัดหนองลังกา
        แผนผังของวัด การวางผังวัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีเจดีย์หรือมณฑป เป็นประธานวัด ด้านหน้าเจดีย์เป็นวิหาร แต่สภาพของที่ตั้งวัดอยู่ในที่ลุ่มต่ำ จึงมีการขุดคูเป็นขอบเขตวัด เพื่อนำดินจากการขุดคูไปปรับถมที่บริเวณวัดให้สูงขึ้น และเป็นคูน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในฤดูแล้งด้วย วัดหนองลังกา เป็นวัดขนาดใหญ่ที่สุด ในเขตอรัญญิกเมืองนครชุม ตั้งอยู่นอกเมืองทางทิศใต้ แผนผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีคูน้ำล้อมรอบ 4 ด้าน อันเป็นลักษณะแบบอุทกสีมา ของพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ที่นิยมแพร่หลายในช่วงสุโขทัยเจดีย์ประธาน เป็นลักษณะเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆัง ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้ว ลักษณะองค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงเตี้ยๆ ฐานล่างทำเป็นซุ้มยื่นมาทั้ง 4 ด้าน มีพระพุทธรูป อยู่ประจำทิศ แต่ถูกขุดค้นทำลายจนสิ้นซาก ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดาน สี่เหลี่ยมและฐานบัวลูกแก้วอกไก่ หรือฐานปัทม์สี่เหลี่ยม ซ้อนลดหลั่นกันไป ชั้นมาลัยเถามีลักษณะเป็นแบบชั้นบัวคว่ำและบัวหงายซ้อนกันอยู่ 3 ชั้น รองรับองค์ระฆังที่ มีขนาดงดงาม สมบูรณ์ เหมาะสม และสวยงามยิ่งนัก บัลลังก์เป็นฐานปัทม์ สี่เหลี่ยม ส่วนท้องไม้ประดับด้วยลูกแก้วอกไก่ ถัดจากบัลลังก์ขึ้นไปเป็นแกนปล้องไฉน ซึ่งประดับลูกแก้วอกไก่ 2 แถว แล้วเป็นบัวฝาละมี ปล้องไฉน ปลียอด เจดีย์ทรงระฆังวัดหนองลังกา รูปทรงสูงชะลูด หรือเพรียวสมส่วน มีสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่พบ ในเมืองนครชุม
        วัดหนองลังกา ควรจะได้รับการปรับภูมิทัศน์ ให้เหมาะสมเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางอารยธรรม ของเมืองนครชุม ก่อนที่จะถูกนักเลงพระขุดทำลาย เพื่อนำพระเครื่องไปจำหน่ายจ่ายแจก เขตอรัญญิกทุ่งเศรษฐี เมืองนครชุมกำลังอยู่ในภาวะที่กำลัง ได้รับการเปลี่ยนแปลงจากการถมที่ดิน เท่ากับถนนใหญ่ ทำให้โบราณสถานโบราณวัตถุ กลายเป็นทัศนะอุจาด จากอรัญญิกที่งดงาม ได้จังหวะในการก่อสร้าง ถูกทิ้งร้าง เป็นป่าทึบเรียกว่า ดงเศรษฐี ต่อมาป่าไม้ถูกตัดทำลายไปสิ้น เปลี่ยนมาเป็น ทุ่งเศรษฐีในปัจจุบัน และเมื่อได้รับการถมที่ดิน ลักษณะนี้ บริเวณนี้ คงกลายเป็น บึงเศรษฐี ในที่สุดอรัญญิกเมืองนครชุมคงกลายเป็นเพียงตำนานที่คนกำแพงเพชรเคยภาคภูมิใจ
 
 
วัดหนองยายช่วย(วัดหนองพลับ)
     ในเขตอรัญญิก เมืองนครชุม โบราณสถานอายุ กว่า 700 ปี มีวัดในเขตอรัญวาสี เรียงรายอยู่หลายสิบวัด แต่ที่เหลือจากการถมทำลาย ขุดทิ้ง ไม่ถึง สิบวัด บริเวณทุ่งเศรษฐี ที่มีชื่อเสียง มานาน นับร้อยปี เนื่องจากมีพระเครื่องที่มีชื่อเสียง อาทิ
พระซุ้มกอ พระกำแพงเขย่ง พระกำแพงนางพญา วัดที่เหลืออยู่ พอมีหลักฐานที่เห็นเด่นชัดคือ วัดซุ้มกอ วัดหนองพิกุล
วัดหนองลังกา วัดหนองยายช่วย วัดหม่องกาเล วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดที่พึ่งสาญสูญ ไปเร็วๆนี้ คือวัด หนองพุทรา ?.
           วัดหนองยายช่วย อยู่ถัดจากวัดหนองลังกา ไปทางทิศตะวันออก ห่างจากวัดหนองลังกา ประมาณ 200 เมตร มีลักษณะรกร้าง มองจากที่ไกลๆ ดูวัดหนองยายช่วย ไม่งดงาม มีขนาดเล็ก ไม่น่าสนใจ แต่เมื่อเข้าไปใกล้ ต้องตะลึง ในความงดงามของ รูปทรงเจดีย์ ที่เป็นเจดีย์ ทรงลังกา ฐานแปดเหลี่ยม ที่มีลักษณะที่งดงามมาก มีศิลปะที่อ่อนช้อย รูปทรงเพรียวสมส่วน ยังสมบูรณ์ตั้งแต่คอระฆังลงมา ยอดหัก ไม่สามารถค้นหาได้พบ บริเวณ ฐานพระเจดีย์ มีซุ้มพระ อีก 4 ซุ้ม มีลักษณะซุ้มที่ใหญ่มาก แต่ไม่พบพระ ว่ามีลักษณะใด แต่เมื่อเทียบกับวัดหนองลังกาแล้ว น่าจะเป็นพระสี่อิริยาบถ คือยืน เดิน นั่ง นอน วัดในบริเวณนี้ที่มีลักษณะเหมือนกันคือ วัดหนองลังกา วัดหม่องกาเล และวัดหนองยายช่วย ถือว่างดงามมาก และมีลักษณะที่พิเศษกว่าทุกวัด คือมีซุ้มพระ มีเจดีย์ราย มีหนองน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบ แบบลัทธิลังกาวงศ์ เลยทีเดียว??.
           ฮืม.ด้านหน้าวัด มีฐานวิหารขนาดใหญ่ ยังมีฐานที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ฐานพระประธาน มีขนาดใหญ่มาก ยังไม่ถูกทำลาย แต่องค์พระไม่มีแล้ว สันนิษฐานว่าจะเป็นพระปูนปั้น จึงถูกทำลายไป พร้อมกับ เจดีย์ที่ถูกขุดค้นขึ้น?ลักษณะของวิหารเหมือนกับ สร้างโบสถ์ซ้อนอยู่ บนวิหาร มีลักษณะที่ เหมาะสมและงดงามอย่างที่สุด?.
           ???รอบๆ บริเวณวัดหนองยายช่วย ได้ปักหลักแบ่งขายที่ดินหมดแล้ว แต่มิได้บุกรุกเข้ามาบริเวณอุทกสีมา ทำให้ไม่เสียหายแก่บริเวณวัดแต่อย่างใด แต่วัดหนองยายช่วย ไม่ได้รับการดูแล จากใครๆเลย?.
           ??.อนุสรณ์แห่ง เมืองนครชุมเหลืออยู่ แค่ทุ่งเศรษฐี ?.ที่ทำให้เมืองนครชุมมี มีชีวิตอยู่บนกระแส ?.แห่งความคาดหวัง ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม?.
           ?..ที่สำคัญคือ องค์การบริหารส่วนตำบลนครชุม ควรจะได้เข้ามามีบทบาทในการดูแล มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ อย่างเหมาะสมที่สุด?ใกล้ชิดที่สุด ?คือแนวทางแห่งการแก้ปัญหามรดกทางวัฒนธรรมทางอารยธรรมอย่างแท้จริง?..






ในบริเวณอรัญญิกนครชุม มีวัดในเขตอรัญวาสี หลายวัด โดยเริ่มจากวัดซุ้มกอ วัดหนองพิกุล วัดหนองลังกา วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดหนองยายช่วย และวัดหม่องกาเล เรียงรายอยู่บนแนวถนนโบราณ จาก เมืองนครชุม ไปเมืองนครไตรตรึงษ์ แนวถนนโบราณ แนวคลองโบราณ?..ยังเห็นได้ชัด ถนนสายนี้ ชาวบ้านเรียกว่าถนนพระร่วงเหมือนกัน ซึ่งยังไม่ได้สืบค้นอย่างแน่ชัด?ถนนเส้นนี้อยู่ในแนว แผนที่ของกรมธนารักษ์ ซึ่งกำลังพิสูจน์สิทธิ์ ระหว่างเจ้าของที่ดิน ปัจจุบัน กับกรมธนารักษ์?.คงทราบผลในเร็ววันนี้
        


      วัดหม่องกาเล เดิมชื่อวัดใดไม่ปรากฏชัดเจน ชาวบ้านเมืองนครชุมเรียกตาม ภูมินามที่พบเห็น
เช่นเห็นเจดีย์ อยู่กลางทุ่ง ก็เรียกวัดเจดีย์กลางทุ่ง อยู่ในบริเวณนาของยายช่วย ก็เรียกว่า วัดหนองยายช่วย วัดหม่องกาเล เช่นเดียวกัน สันนิษฐานว่า บริเวณที่ค้นพบวัด อยู่ในที่จับจอง ของชาวพม่า ที่ชื่อหม่องกาเล ซึ่งสืบหาลูกหลานของท่านไม่ได้ รู้แต่ว่าหลังจากหม่องกาเล ที่บริเวณนั้น เป็นที่ครอบครองของตาหมอหร่อง ตาหมอหร่อง มีลูกเขยชื่อนายจันทร์ ได้ครอบครองที่ดินบริเวณนี้ต่อมา และได้ขายที่ดินทั้งหมดให้ ผู้อื่น?..
          ปัจจุบัน วัดหม่องกาเล ตั้งอยู่บนแนวถนนโบราณ ที่ชาวบ้านเรียกว่าถนนพระร่วง หรือถนน
ตาพระร่วง ยังไม่ถูกบุกรุกทำลายมากอย่างวัดอื่นผ่านการบูรณะปฏิสังขรณ์แล้ว จากกรมศิลปากร มีเจดีย์ประธานที่มีรูปทรงงดงาม ขนาดย่อมกว่าวัดหนองลังกา เล็กน้อย มีซุ้มที่ฐานเจดีย์ อยู่สามซุ้ม
ไม่ทราบว่า ไม่ได้บูรณะ 1 ซุ้ม หรือไม่มีแต่แรก แต่ถ้าสังเกตจากวัดหนองลังกา แล้วน่าจะมี 4 ซุ้ม
รูปทรงของเจดีย์ เพรียวและสง่างาม ยอดหักพังมาถึงคอระฆัง ไม่พบ ยอดที่หักตกลงมาเลย ในบริเวณนั้น อาจจะอยู่ในหนองน้ำ หรืออุทกสีมา ที่อยู่รอบๆ บริเวณพื้นที่ นั้นก็เป็นได้ ?.ด้านหน้า มีวิหารเตี้ยๆคล้ายวิหารของวัด เจดีย์กลางทุ่ง?.แต่มีร่องรอยของฐานวิหารที่ชัดเจน โดยรอบไม่มี เจดีย์ราย อาจถูกขุดทำลายหมด เพราะเป็นเจดีย์ ขนาดเล็ก คูน้ำล้อมรอบ เป็นคูน้ำขนาดใหญ่ ที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ยังไม่ถูกรื้อทำลาย จากชาวบ้าน ชาวบ้านบริเวณนั้นมิกล้าเข้าใกล้ บริเวณ จึงมิถูกบุกรุกที่ดิน
           วัดหม่องกาเล มีกรุพระเครื่อง ที่มีชื่อเสียงมาก โดยเฉพาะอย่างพระซุ้มกอ ขุดพบที่บริเวณวัดนี้จำนวนมาก
           ???วัดหม่องกาเล มิได้อยู่ในแนว การถมที่เพื่อทำบ้านจัดสรร จึงยังมีภูมิทัศน์ที่งดงาม เพียงแต่ขาดการดูแลที่ดี จากเจ้าหน้าที่เท่านั้น ถ้าโอนที่บริเวณวัดให้กับ องค์การบริหารส่วนตำบลแล้ว การดูแลจะใกล้ชิดมากขึ้น และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยการดูแลควบคุม
จากกรมศิลปากรอีกต่อหนึ่ง?..
           วัดหม่องกาเล เป็นวัดในแนวถนนไปวังกระทะ และข้ามคลองไพร ไป ซึ่งยังไม่ได้สำรวจกันอย่างจริงจัง ว่าแนวถนนนี้มีโบราณสถาน โบราณวัตถุใดหลงเหลืออยู่บ้าง??แต่ก็ยังดีใจที่วัดหม่องกาเล อยู่ในแผนที่ของกรมศิลปากร และขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้ว จึงมิมีใครมาครอบครองได้?.


 
ป้อมทุ่งเศรษฐี
     เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่นอกเมืองนครชุมทางทิศใต้ ลักษณะป้อมเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยศิลาแลง ยาวด้านละ 84 เมตร ด้านตะวันออกถูกรื้อทำลายตลอดแนว แต่ละด้านมีประตูเข้าบริเวณกึ่งกลาง กำแพงด้านนอกก่อเป็นผนังสูง ด้านในก่อเป็นแท่นหรือเชิงเทิน บนเชิงเทินเดินตรวจตราได้ ต่อจากนั้นก่อเป็นใบเสมา ใต้ใบเสมาทุกใบมีช่อง อาจจะใช้เป็นช่องปืน ตรงมุมกำแพงทั้งสี่ด้านมีป้อมหัวมุมยื่นออกมาเป็นรูปสี่เหลี่ยม ตอนล่างของกำแพงมีช่องกุดทำเป็นวงโค้งยอดแหลม ภายในบริเวณป้อมไม่ปรากฏสิ่งก่อสร้างอื่นใด จากลักษณะช่องกุดที่เจาะเป็นรูปวงโค้งเข้าไปในตัวกำแพง คล้ายกับช่องหน้าต่างอาคารที่สร้างในสมัยอยุธยา โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชลงมา จึงสามารถคาดคะเนได้ว่าป้อมทุ่งเศรษฐีแห่งนี้คงจะสร้างในช่วงสมัยอยุธยาและลักษณะป้อมได้อิทธิพลจากตะวันตก
 
วัดสว่างอารมณ์
         ตั้งอยู่บริเวณปากคลองสวนหมาก เป็นวัดที่สร้างขึ้นด้วยศิลปะแบบพม่าผสมไทย โดยพ่อค้าชาวพม่า ภายในวัดมีปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ หลวงพ่ออุโมงค์ พระพุทธรูป สมัยเชียงแสน ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของ จ.กำแพงเพชร พุทธลักษณะงดงาม บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่าง เมืองกําแพงเพชรและอาณาจักรล้านนาในอดีต โดยประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหาร
         จากคำบอกเล่า...พบหลวงพ่ออุโมงค์ ในบริเวณเนินดินลักษณะคล้ายจอมปลวก ซึ่งชาวบ้านได้ขุดและพบโดยบังเอิญ โดยปรากฏลักษณะเหมือนประดิษฐานอยู่ภายในอุโมงค์ จึงเป็นที่มาของชื่อ หลวงพ่ออุโมงค์ นอกจากนี้ภายในวัดยังมีส่วนอื่นๆที่น่าสนใจ เช่น ศาลาเก่าของวัดท่าหมัน ภายในประดิษฐาน หลวงพ่อมหามงคลนิมิต พระพุทธรูปศิลปะพม่า และมณฑปแบบพม่า จากคำบอกเล่า...เมื่อชุมชนเจริญขึ้นสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของคนไทย คือ วัด (เดิมวัดพระบรมธาตุก็มีอยู่แล้ว คงไม่สะดวกในการไปทำบุญ) จึงมีการรวบรวมทุนทรัพย์สร้างเป็นสำนักสงฆ์ขึ้น เรียกว่า วัดซึ่งอยู่กลางหมู่บ้าน มีบริเวณประมาณ 4 ? 5 ไร่ มีท่าน้ำ เป็นที่ขึ้นลงของล้อเกวียน เพื่อลากเข็นข้าวจากนามาเก็บไว้ยังยุ้งฉาง เผอิญท่าน้ำนั้นมีต้นหมันใหญ่เป็นสัญลักษณ์ จึงเรียกว่า?วัดท่าหมัน? หัวหน้าก่อสร้างวัดนี้ ชื่อว่าอาจารย์ช่วย ได้บวชอยู่จนมรณภาพ ชาวบ้านเห็นคุณงามความดีได้เก็บอัฐิก่อเป็นสถูปไว้เป็นที่ระลึก (อยู่ตรงหน้าบ้าน ส.รังคภูติ) เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้นจึงได้รื้อถอนทิ้งไป เมื่ออาจารย์ช่วยมรณภาพ ได้มีอาจารย์แก้ว มาเป็นอาจารย์วัดได้บูรณะซ่อมแซมกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม ผู้คนจึงมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัด ?ท่าหมันแก้วปุณณวาสน์? ซึ่งวัดเคยใช้เป็นโรงเรียนประชาบาลตำบล คลองสวนหมาก (นครชุม) เป็นโรงเรียนหลังแรก โรงเรียนประชาบาลตำบล คลองสวนหมาก หนึ่ง (วัดท่าหมันแก้วปุณณวาสน์) เมื่ออาจารย์แก้วสึกออกไป ได้มีอาจารย์ปลั่ง วังลึก เป็นเจ้าอาวาส ทำความเจริญให้แก่วัดยิ่งขึ้น ส่วนทางทิศเหนือของลำคลองสวนหมาก มีวัดเดิมอยู่ก่อนแล้ว อยู่บริเวณที่คลองสวนหมาก ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำปิง ไม่ทราบประวัติว่าใครเป็นผู้สร้าง เรียกกันว่า ?วัดสองพี่น้อง? ปัจจุบันคือวัดสว่างอารมณ์นั่นเอง
          วัดสว่างอารมณ์สร้างอยู่ในที่ดินเดิมของวัดร้าง ชื่อวัดสองพี่น้องเพราะบริเวณบ้านปากคลองเหนือเดิม มีวัดอยู่วัดหนึ่ง ห่างจากวัดสองพี่น้องไปทางเหนือน้ำของคลองสวนหมาก ประมาณ 800 เมตรแต่อยู่ฝั่งตรงข้ามเป็นวัดกลางหมู่บ้าน มีเนื้อที่ประมาณ 4 ? 5 ไร่ มีท่าน้ำเป็นที่ขึ้น-ลง ของล้อเกวียนที่ลากเข็นข้าวจากนามาเก็บไว้ยังยุ้งฉาง ที่ท่าวัดนั้นมีต้นหมันใหญ่เป็นสัญลักษณ์ จึงได้ชื่อว่า ?วัดท่าหมัน? หัวหน้าก่อตั้งวัดนี้ ชื่อว่าอาจารย์ช่วย บวชอยู่จนมรณภาพ ชาวบ้านได้สร้างสถูปเก็บอัฐิของท่านไว้ (อยู่ตรงหน้าร้านสนั่นพานิชย์ในปัจจุบัน) เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้นได้รื้อถอนทิ้งไป
          ต่อมาอาจารย์แก้ว ได้บูรณะวัดให้กว้างขวางกว่าเดิม คณะกรรมการและทางราชการได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น ?วัดท่าหมันแก้วปุณณวาสน์? เคยใช้ศาลาวัดเป็นโรงเรียนประชาบาลแห่งแรก ชื่อว่า โรงเรียนประชาบาลประจำตำบลคลองสวนหมาก 1 (วัดท่าหมันแก้วปุณณวาสน์) เมื่ออาจารย์แก้ว ลาสิกขาบทออกไป มีอาจารย์ปลั่ง (วังลึก) เป็นเจ้าอาวาสองค์ต่อมา ได้สร้างความเจริญให้แก่วัดมากยิ่งขึ้นอีก
ส่วนวัดสองพี่น้องนั้น มีความสัมพันธ์กับวัดท่าหมันอย่างใกล้ชิด เมื่อเดิมเป็นวัดร้าง ก็กลายเป็นที่หาของป่า ประเภทผักพื้นบ้านเห็ดและหน่อไม้ เป็นที่เผาศพและฝังศพ แล้วยังใช้เป็นที่ผูกช้างชั่วคราวของบริษัททำไม้ธัญญผลล่ำซำ จำกัด และช้างของชาวบ้าน ในเวลาที่นำช้างเข้าเมืองเพื่อเตรียมเสบียงอาหารก่อนเข้าไปทำงานในป่ามีสตรีชาวมอญคนหนึ่งจากจังหวัดตากชื่อแม่สายทอง ได้มาเป็นสะใภ้ของบ้านปากคลองเหนือในสกุลโตพุ่ม ได้นำพี่ชายซึ่งบวชเป็นพระ มาอยู่วัดสองพี่น้องด้วยองค์หนึ่ง ชื่อหลวงพ่อบุญมี โดยมีครอบครัวของน้องสาวเป็นโยมอุปัฏฐาก หลวงพ่อบุญมี ได้สังเกตเห็นว่าภายในวัดมีจอมปลวกใหญ่มีลักษณะประหลาด คือดินหุ้มไม่มิด ทางด้านที่หันหน้าสู่คลองสวนหมาก มีเถาวัลย์ขนาดใหญ่รกทึบปกคลุมอยู่ หลวงพ่อบุญมี จึงขอให้หลานชายซึ่งขณะนั้นเป็นกำนัน ชื่อกำนันชิน โตพุ่ม นำราษฎร และควาญช้างช่วยกันถางเถาวัลย์ออก ก็พบพระพุทธรูปแบบเชียงแสนขนาดใหญ่ หน้าตักกว้างประมาณ 2.87 เมตร สูงประมาณ 3 เมตร มีพุทธลักษณะงดงามยิ่ง (นับว่าเป็นหลักฐานสำคัญประกอบข้อเท็จจริงระหว่างความสัมพันธ์ของเมืองกำแพงเพชรกับหัวเมืองฝ่ายเหนือ) อยู่ภายในจอมปลวกนั้น และได้ทลายกองดินที่หุ้มองค์พระออกทั้งหมด ชาวบ้านที่อยู่ตรงข้ามกับวัดท่าหมันก็เริ่มมาทำบุญที่วัดสองพี่น้อง ทำให้คลายความน่ากลัวจากการเป็นวัดร้างไปได้มากแต่ก็ยังใช้เป็นที่เผาศพและผังศพเหมือนเดิม
 
     ส่วนองค์พระพุทธรูปนั้น ชาวบ้านปากคลองเหนือว่าเป็นปาฎิหาริย์ของท่าน ที่ทำให้มีกองดินครอบอยู่คล้ายอุโมงค์ เพื่อความปลอดภัยจากข้าศึกศัตรูสมัยโบราณ ท่านจึงได้ชื่อว่าหลวงพ่ออุโมงค์ เป็นพระพุทธรูปที่ชาวนครชุมนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ขอสิ่งใดมักได้สมความปรารถนา ไม่ว่าจะเป็น ด้านการศึกษา ด้านการค้าขาย หรือเกี่ยวกับการให้คำสัตย์สาบาน และจะแก้บนเป็นพวงมาลัย หัวหมู หรือมีลิเกถวาย ก็ตามกำลังศรัทธาปัจจุบันนี้หลวงพ่ออุโมงค์ ได้รับเลือกจากชมรมพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ให้เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัดกำแพงเพชรเมื่อพะโป้ พ่อค้าไม้ชาวกระเหรี่ยงคนหนึ่ง ซึ่งเป็นต้นตระกูลรัตนบรรพต ท่านมีครอบครัวอยู่ริมคลอง แม่คล้อ ตรงข้ามกับวัดสองพี่น้องได้บูรณะวัดพระธาตุต่อจากพระยา ตะก่า ได้ใช้คนไปนำยอดฉัตรจากเมืองย่างกุ้งประเทศพม่า เพื่อนำมาประดิษฐานที่ยอดพระธาตุ คณะที่ไปนำยอดฉัตรมาถึงวัดสองพี่น้องเป็นเวลา   รุ่งสางพอดี
 
        
           ต่อมาเมื่อปี 2490 น้ำคลองสวนหมากได้กัดเซาะตลิ่งบริเวณท่าน้ำของวัดท่าหมันเข้าไปเกือบถึงศาลา ทางกรรมการวัดเห็นว่าเป็นอันตรายเพราะศาลาสร้างแบบตั้งเสาบนดิน ไม่ได้ฝังเสาแบบศาลาทั่วไป จึงได้ย้ายศาลาไปยังวัดสองพี่น้อง โดยมีส่างหม่อง พ่อค้าไม้อีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคุณตา ของตระกูลมากกุญชรที่นครชุมในปัจจุบัน เป็นคู่เขยของพะโป้ และยังมีลูกสาวคนหนึ่งแต่งงานกับลูกชายแม่สายทอง เป็นแม่กองงานคุมราษฎรและควาญช้าง ทำการรื้อศาลาและผู้จัดการบริษัททำไม้ธัญญผลล่ำซำ จำกัด ชื่อนายจุลินทร์ ล่ำซำ เป็นผู้ออกค่าจ้างก่อสร้างใหม่ โดยนำช่างจากจังหวัดตากมาสร้าง ชาวบ้านปากคลองเหนือจึงย้ายไปทำบุญที่วัดสองพี่น้อง โดยเดินข้ามคลองในฤดูแล้งและใช้เรือถ่อ เรือพายในฤดูน้ำหลาก เปลี่ยนชื่อวัดสองพี่น้องเป็น วัดสว่างอารมณ์ มีหลวงพ่อบุญมี เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก เพราะอาจารย์ปลั่ง วังลึก ได้ลาสิกขาบทเสียก่อน
โรงเรียนวัดท่าหมันแก้วปุณณวาสน์ ได้ย้ายไปตั้งที่ใหม่ ปัจจุบันคือโรงเรียนอนุบาลเมืองกำแพงเพชร (บ้านนครชุม)วัดท่าหมันจึงหมดความสำคัญลง ที่ดินของวัดอยู่ในความดูแลของวัดสว่างอารมณ์ ได้ให้เอกชนเช่าทำที่อยู่อาศัยและสร้างอาคารพาณิชย์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของตลาดนครชุม


ครูมาลัย ชูพินิจ
          ครูมาลัย ชูพินิจ เกิดเมื่อวันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ.2449 ที่บ้านริมแม่น้ำปิง ตำบลคลองสวนหมาก อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร เป็นบุตรของ นายสอน และนางระเบียบ ชูพินิจ ในวัยเด็ก ครูมาลัย ชูพินิจ เข้ารับการศึกษาชั้นต้นที่จังหวัดกำแพงเพชร จนจบชั้นประโยคประถมศึกษา เมื่ออายุประมาณ 10 ปี จึงเข้าไปศึกษาต่อใน ระดับสูงจนจบประโยคมัธยมศึกษา (ม.เจ๋ง เมื่อ ปี พ.ศ.2467 และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ อยู่ในกรุงเทพฯ ครูมาลัย ชูพินิจ เริ่มประกอบอาชีพครั้งแรกโดยรับราชการครู ที่โรงเรียนวัดสระเกศ เมื่อ ปี พ.ศ.2467 สองปีต่อมาก็ลาออกจาก อาชีพครูเนื่องจากพอใจกับงานหนังสือพิมพ์มากกว่า และได้ยึดอาชีพนักหนังสือพิมพ์ และนักประพันธ์มาโดยตลอด 37 ปี จนถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งที่ปอดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2506 เวลา 17.45 น. ณ ตึกปัญจาชินี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ในช่วงเวลาที่ ครูมาลัย ชูพินิจ ประกอบอาชีพนักหนังสือพิมพ์ และนักประพันธ์ ได้สร้างผลงานไว้มากมาย ทั้งด้านสารคดี บทความ กีฬา ปรัชญา นวนิยาย เรื่องสั้น บทละคร มีผู้กล่าวคาดประมาณกันว่าผลงานของมาลัย ชูพินิจ มีประมาณ 3,000 เรื่อง นับว่ามาลัย ชูพินิจ เป็นนักประพันธ์ที่มีผลงานมากที่สุดคนหนึ่ง เป็นตัวอย่างของ ความอุตสาหะ ในการประกอบอาชีพที่ดียิ่ง นามปากกาของ มาลัย ชูพินิจ ได้แก่ ก.ก.ก. จิตรลดา ฐ.ฐ.ฐ. ต่อแตน น.น.น. น้อย อินทนนท์ นายไข่ขาว นายฉันทนา นายดอกไม้ นายม้าลาย แบ๊ตตลิ่งกรอบ ผุสดี ผู้นำ พลับพลึง ม.ชูพินิจ มะกะโท แม่อนงค์ เรไร เรียมเอง ลูกป่า วิชนี ส.ส.ส. สมิง กะหร่องหนอนหนังสือ อะแลดดิน อาละดิน Aladdin อาตมา อินทนนท์น้อย อุมา ฮ.ฮ.ฮ. ฉ.ฉ.ฉ. ดุสิต ลดารักษ์
          นวนิยายที่ดีเด่น แสดงถึงความผูกพันทางความรู้สึกระหว่างครูมาลัย ชูพินิจ กับกำแพงเพชร คือ นวนิยาย เรื่อง ทุ่งมหาราช ใช้นามปากกาว่า เรียมเอง ซึ่งมาลัย ชูพินิจ กล่าวไว้ในคำนำของหนังสือว่า "ความมุ่งหมายของข้าพเจ้าในการเขียนทุ่งมหาราช ก็มิได้ ปรารถนาจะให้เป็นประวัติของตำบลคลองสวนหมาก ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนนามกันมา เป็นนครชุมหรือประวัติศาสตร์ของชาวบ้านนั้น โดยแท้จริงมากไปกว่าเสมือนบันทึกของเหตุการณ์ประจำยุค ประจำสมัย" นวนิยายเล่มนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของข้อมูลการค้นหาตนเองของอนุชนกำแพงเพชรในปัจจุบัน
          ครูมาลัย ชูพินิจ เป็นผู้มีผลงานสร้างสรรค์ต่อวงการหนังสือพิมพ์และวงการ ประพันธ์เป็นอเนกอนันต์ นอกจากงานหนังสือพิมพ์ และการประพันธ์แล้ว มาลัย ชูพินิจ ยังได้ปฏิบัติงานรับใช้สังคมอีกเป็นอันมาก ได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการในองค์การทางสังคม หลายองค์การ ในทางการเมืองได้รับแต่งตั้ง เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในทางวิชาการเป็นอาจารย์พิเศษ วิชาการบริหาร ฝ่ายบรรณาธิการของวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
          ผลงานทุกประเภทของมาลัย ชูพินิจ ได้รับการยอมรับนับถือจากทุกวงการ เกียรติยศก่อนเสียชีวิต คือการได้รับพระราชทานปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2505
 
วรรณกรรมท้องถิ่น
          วรรณกรรม ผลงานชิ้นเอกของ ครูมาลัย ชูพินิจ นักประพันธ์ ชาวกำแพงเพชร ที่ฉายภาพบ้านเมืองคลองสวนหมากหรือนครชุมในอดีต ระหว่าง พ.ศ.2433-2493 ครูมาลัยเขียนเรื่องนี้จากความทรงจำรำลึก ความสำนึกในบุญคุณ และความรักในมาตุภูมิ ดังที่กล่าวไว้ในคำนำหนังสือว่าเรื่องทุ่งมหาราชเป็น ?เสมือนบันทึกของเหตุการณ์ประจำยุคประจำสมัย ซึ่งผ่านมาในชีวิตของข้าพเจ้าและก่อนหน้าข้าพเจ้าขึ้นไป...? เนื่องจาก ?ทุ่งมหาราช? เป็นวรรณกรรมที่สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของคนปากคลองสวนหมาก การต่อสู้กับภัยธรรมชาติและภัยพิบัตินานา ด้วยความทรหดอดทนด้วยหัวใจของนักสู้ผู้มีความรักอันยิ่งใหญ่ต่อบ้านเกิดเมืองนอน โดยครูมาลัยได้ผูกโครงเรื่องและดำเนินเรื่องผ่านการต่อสู่ของตัวละครเอกในเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพินิจพิจารณาบรรยายฉากด้วยภาษาที่งดงามของนักประพันธ์แล้ว
  
จะมองเห็นภาพวิถีชีวิตของคนปากคลองสวนหมาก วัฒนธรรม การละเล่น การทำมาหากินของชาวบ้าน บุคคลสำคัญ และเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ได้อย่างชัดเจน ดังตัวอย่าง ?...นั่นดงเศรษฐี ไม่มีใครรู้ว่าสร้างมาเมื่อไหร่ ร้างมาแต่เมื่อไหร่ แต่มันเป็นเครื่องหมายของปู่ย่าตายายก่อนๆ เราขึ้นไปก่อนปู่ยาทวดของเราขึ้นไป เป็นมรดกที่ทิ้งไว้ให้พวกคนไทยรุ่นหลังได้ระลึก...? ?...นี่เองพะโป้ผู้ยิ่งใหญ่ พะโป้ผู้มีคุณแก่ชาวกำแพงเพชรโดยทั่วไปและคลองสวนหมากโดยเฉพาะ พะโป้ผู้นำฉัตรทองแต่ตะโก้งมาประดิษฐาน ณ ยอดพระบรมธาตุ...? เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเรื่อง ?ทุ่งมหาราช? เป็นวรรณกรรมท้องถิ่นของชาวกำแพงเพชรโดยแท้ ผู้อ่านสามารถมองเห็นภาพท้องถิ่นของชาวคลองสวนหมากหรือนครชุมในอดีต ซึ่งสะท้อนภาพประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งของกำแพงเพชรไว้ได้อย่างดี นอกจากเรื่อง ?ทุ่งมหาราช? จะเป็นวรรณกรรมของท้องถิ่นแล้วยังได้รับยกย่องให้เป็นหนังสือดีหนึ่งใน 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน
 
แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม
          ?นครชุม? เป็นเมืองโบราณที่ตั้งอยู่บริเวณปากคลองสวนหมาก บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงตรงข้ามกับเมืองกำแพงเพชร เกิดขึ้นในยุคกรุงสุโขทัย ช่วงรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง ทำหน้าที่เมืองหน้าด่านทางทิศตะวันตกของสุโขทัย และในช่วงนั้น ถือได้ว่าเป็นยุคทองของพระพุทธศาสนา ศิลปะและสถาปัตยกรรมต่างๆโดยพระมหาธรรมราชาที่ 1 ทรงสถาปนาพระศรีรัตนมหาธาตุ และทรงปลูกต้น พระศรีมหาโพธิ์ ที่เมืองนครชุม อันเป็นตำนานของประเพณีนบพระเล่นเพลง ที่สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้

          ในภายหลัง เมื่อมีผู้รื้อพระศรีรัตนมหาธาตุเจดีย์ ก็ได้พบจารึกบนแผ่นลานเงินในกรุ ซึ่งจารึกถึงตำนานการสร้าง ?พระพิมพ์? หรือที่ในปัจจุบันเรียกว่า?พระเครื่อง? นอกจากนี้ในพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้นครั้งที่สอง เรื่องการเสด็จประพาสกำแพงเพชร ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเขียนในปี พ.ศ. 2449 ก็ได้กล่าวถึงจารึกบนแผ่นลานทอง อันมีข้อความเกี่ยวกับการขุดพบพระต่างๆ ตามกรุต่างๆ เช่นกันนับว่าการสร้างพระพิมพ์ หรือพระเครื่องนั้น มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากว่า 700 - 800 ปี แล้ว และเชื่อกันว่าคงมิได้สร้างเฉพาะ พระพิมพ์เท่านั้น น่าจะมีการสร้างพระพุทธรูป และถาวรวัตถุอื่นๆ ในพระพุทธศาสนาไว้อีกด้วย
  
ในพระราชนิพนธ์เรื่องเสด็จประพาสต้นครั้งที่สอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวไว้ว่า ?ของถวายในเมืองกำแพงเพชรนี้ ก็มีพระพิมพ์เป็นพื้น? ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นขนบธรรมเนียมอย่างหนึ่งของชาวกำแพงเพชรในการให้พระเครื่องเป็นของที่ระลึก สำหรับผู้ที่เคารพนับถือและมิตรสหายข้อความตามศิลาจารึกหลักที่ 8 (ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ) มีการเรียกเมืองนครชุมว่า ?นครพระชุม? ซึ่งอาจจะมีความหมายถึงเป็นเมืองที่รวมของพระ หรืออาจหมายถึงมีพระมาก ซึ่งในครั้งที่มีการรื้อพระศรีรัตนมหาธาตุเจดีย์ ที่วัดพระบรมธาตุนครชุม สถานที่ค้นพบศิลาจารึกหลักที่ 3 (ศิลาจารึกนครชุม) ก็มีการพบพระพิมพ์เป็นจำนวนมาก และนับว่าเป็นต้นตอของพระเครื่องตระกูลทุ่งเศรษฐี ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดกำแพงเพชร
     ปัจจุบัน สำหรับคนที่ไม่ใช่เซียนพระ หรืออยู่ในวงการพระเครื่อง อาจจะหาชมพระเครื่องของเมืองนครชุมได้ยากเสียหน่อย แต่หากว่ามาที่ แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม ก็จะได้เห็นพระเครื่อง รวมถึงกระบวนการทำพระเครื่องให้เหมือนกับของเก่าอีกด้วย
               แหล่งเรียนรู้แห่งนี้ เริ่มต้นขึ้นมาจาก สมหมาย พยอม ผู้มีถิ่นฐานอยู่ในเมืองนครชุม และคลุกคลีอยู่ในวงการพระเครื่อง ด้วยความที่มีใจรัก จึงศึกษาและจดจำวิธีการทำพระเครื่องจากช่างพระเครื่องในกำแพงเพชร แล้วนำมาทดลองทำพระซุ้มกอได้เป็นอันดับแรก
    ในปี พ.ศ.2551 ก็ได้จัดตั้งแหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุมขึ้น เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่สนใจในเรื่องวิธีการทำพระเครื่อง ซึ่งภายในแหล่งเรียนรู้ก็จะมีสมาชิกที่คอยสาธิตกระบวนการทำพระเครื่องในขั้นตอนต่างๆ ให้ได้ชม
    สำหรับการทำพระเครื่อง หรือพระพิมพ์นั้น เริ่มจากการนำดินที่ได้มาทุบ แล้วหมักไว้ 1คืน จากนั้นก็นำดินมานวดให้นิ่มพอดี ไม่แข็งหรือเหลวเกินไป ถัดมา ให้นำแป้งมาโดยที่แม่พิมพ์พระ เพื่อที่เวลากดดินลงกับแม่พิมพ์แล้วดินจะได้ไม่ติดกับแม่พิมพ์ และสามารถนำดินออกมาได้ง่าย โดยแม่พิมพ์พระที่ใช้ก็ได้มาจากการจำลองจากพระเครื่องนครชุมของแท้ ที่เป็นของเก่าของแก่ จึงทำให้พระพิมพ์ที่ทำออกมานั้นมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับของเก่ามากทีเดียว เมื่อกดดินลงกับแม่พิมพ์จนดินขึ้นเป็นรูปแล้ว ก็นำออกมาใส่ถาด พึ่งลมไว้ในร่มประมาณจนแห้ง และนำออกตากแดดให้แห้งสนิท ต่อด้วยการนำพระไปเผาที่เตาประมาณ 24 ชั่วโมง ซึ่งจะต้องคอยเติมถ่าน และควบคุมไม่ให้ไฟแรงเกินไป ครบกำหนดเวลาแล้วก็นำพระออกจากเตา นำมาวางเรียงเพื่อใส่รา ใส่คราบพระ สุดท้ายให้นำใบตองแห้งของกล้วยน้ำว้ามาขัด ก็จะได้พระเครื่องนครชุมที่ดูคล้ายของเก่าแก่ พระเครื่อง หรือพระพิมพ์ ที่ได้มานั้น ทำให้คนรุ่นปัจจุบันได้ศึกษาตั้งแต่ความเป็นมาตั้งแต่สมัยก่อน จนมาถึงกระบวนการทำพระในสมัยนี้ ที่ยังคงความงามตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของชนชาวไทย และยังคงสืบสานพุทธศิลป์ที่สวยงามนี้ไว้ต่อไป
  
 ข้าวตอกตัด
          ข้าวตอกตัด เป็นอีกหนึ่งของดีที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ นิยมซื้อติดมือไปเป็นของฝาก ด้วยรสชาติที่หวานหอม ถูกใจคน  มีราคาไม่แพง นิยมรับประทานเป็นของว่างพร้อมกับกาแฟ เป็นหนึ่งในสินค้ายอดนิยม ที่สร้างชื่อเสียงและทำรายได้ให้แก่ชาวชุมชน นครชุม...เรียกได้ว่าถ้ามานครชุมแล้ว หากยังไม่ได้ลิ้มชิมรสขนมข้าวตอกตัด อาจถือได้ว่ายังมาไม่ถึงนครชุม... ข้าวตอกตัด หรือข้าวตอก มีส่วนผสมหลักสำคัญอยู่สามอย่างก็คือ ข้าวเปลือกข้าวเหนียว น้ำตาลปี๊บ และน้ำกะทิ โดยนำข้าวเปลือกข้าวเหนียว ไปคั่วให้แตกเป็นข้าวตอก จากนั้นจึงเก็บแกลบออกให้หมดให้เหลือแต่ข้าวตอก แล้วนำข้าวตอกที่ได้ไปตำให้ละเอียดพอประมาณ จากนั้นนำข้าวตอกที่ ตำแล้วมาร่อนเพื่อแยกข้าวตอกออกเป็นสามส่วน คือ ข้าวตอกขนาดโต ที่จะนำไปผสมกับกะทิ ข้าวตอกขนาดกลางสำหรับโรยบนแม่พิมพ์ และข้าวตอกขนาดเล็ก ที่มีเนื้อละเอียดสุด จะนำไปโรยหน้าขนมเพื่อให้ขนมดูน่าทาน   ปัจจุบันคุณยายประภาศรี เอกปาน อยู่บ้านปากคลองใต้ หมู่ที่ 3 ตำบลนครชุม ได้สอนวิธีการทำข้าวตอกตัดให้แก่ลูกหลาน เพื่อมิให้ขนมโบราณอย่างข้าวตอกตัดนครชุมสูญหายไป
 
 
เมี่ยง
          ใบเมี่ยงที่หมักครบกำหนดแล้ว จะมีรสเปรี้ยวอมฝาด และอมหวาน สามารถเก็บไว้ได้นานปี เมี่ยงเป็นอาหารว่างที่คนเมืองนิยมรับประทานใช้รับแขกบ้านแขกเมือง โดยจะนำใบเมี่ยงที่ผ่านการหมักแล้ว ดึงเส้นใบออก เอามาห่อเกลือ น้ำตาล มะพร้าวคั่ว ขิง เป็นเมี่ยงส้ม (เปรี้ยว) หรือเมี่ยงหวานตามชอบ เรียกว่าเมี่ยงอม หรือเอาใบเมี่ยงมาห่อเกลือ จะทำให้รสชาติอร่อยไปอีกแบบหนึ่ง การรับประทานเมี่ยงจะใช้การอม หลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว
    
               เมี่ยง เป็นสิ่งขบเคี้ยวของคนทางภาคเหนือ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น กินหรืออมเพื่อความกระชุ่มกระชวย และให้เกิดความเพลิดเพลิน หรือแก้เปรี้ยวปาก ชาวเหนือส่วนใหญ่จะติดใบเมี่ยง ถ้าไม่ได้อมจะง่วงนอน หรือง่วงซึม นับว่าเมี่ยงเป็นภูมิปัญญาชนิดหนึ่งของชาวเหนือใบเมี่ยง ทำมาจากใบชาป่า หรือใบชา นำมาหมัก เพื่อใช้กินกับเกลือหรือกินกับแคบหมู นิยมกันทั่วภาคเหนือ ประชาชนในสมัยโบราณถือเป็นอาหารสำหรับอมเป็นหลัก ในทุกผู้คนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ในสมัยนี้การอมใบเมี่ยงไม่นิยมกันแล้วและมีการพัฒนามาเป็นเมี่ยงที่มีไส้แตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัดแต่ละท้องถิ่น

 ตลาดย้อนยุคนครชุม
                นครชุม เมืองเก่าที่มีมนต์เสน่ห์พร้อมด้วยสีสันทางศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์รวมถึงบรรยากาศธรรมชาติร่มรื่น ณ ที่แห่งนี้ นับเป็นอีกจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว ด้วยมีหลากหลายสถานที่ ที่มีชื่อเสียงชวนเติมต่อการพักผ่อน อีกทั้งนครชุมยังเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทางไปยังเมืองต่างๆ ได้อย่างสะดวกด้วยระยะทางในรัศมี 100 กิโลเมตร เช่น ศรีสัชนาลัย สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร ตากและนครสวรรค์
                ด้วยมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานกว่า 700 ปี นครชุม จึงมีความโดดเด่นหลายด้าน ทั้งศิลปกรรม สถาปัตยกรรม วิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมเป็นวัฒนธรรมที่หลากหลายได้รับการผสมผสานเข้ากันอย่างลงตัว เห็นได้จากปรากฏร่องรอยของประวัติศาสตร์
    
อรัญญิก บ้านเรือนเก่าแก่ที่มีเอกลักษณ์หลากหลายรูปแบบให้ได้สัมผัสเยี่ยมชม ดังนั้นอาหารพื้นบ้านของชาวบ้านจึงมีความหลากหลาย ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ขนบธรรมเนียมประเพณี มรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น จึงได้รับการสืบทอดต่อๆกันมา ถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นหลังในรูปแบบของ อาหารพื้นบ้าน โดยนำวัฒนธรรมท้องถิ่น และอาหารพื้นบ้านที่พ่อค้า แม่ขาย แต่งกายสมัยดั้งเดิมมาจำหน่ายบริเวณตลาดนครชุม ซึ่งเป็นย่านธุรกิจ ที่มีการค้าขายเจริญรุ่งเรืองครั้งในอดีต เป็นการรื้อฟื้น ปรับสภาพวิถีชีวิตของคนในชุมชน อาคารบ้านเรือนโบราณ ให้กลับมามีชีวิตใหม่ ตลาดย้อนยุค นอกจากจะเป็นการหนุนเสริมเศรษฐกิจที่พอเพียงแก่ประชาชนแล้ว ยังจุดประกายให้เทศบาลตำบลนครชุม สามารถใช้ศิลปวัฒนธรรม โบราณสถานที่มีอยู่ สร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมได้อีกทางหนึ่ง โดยรูปแบบของการจัดกิจกรรมประกอบด้วยบรรยากาศการจัดตลาดและการแต่งกายย้อนยุค เป็นการจำลองบรรยากาศตลาด แบบย้อนยุค บรรยากาศภายในตลาดจะมีพ่อค้า แม่ค้า แต่งกายด้วยชุดไทย นำอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของ ชาวนครชุมหรือร่วมสมัยวางจำหน่าย มีการสาธิตการทำอาหารพื้นบ้าน หรือศิลปหัตถกรรม อาทิ การจักสานไม้ไผ่งานผีมือใบตองหรือการวาดรูป ระบายสี มุ่งเน้นการแต่งกายพื้นบ้าน หรือวัฒนธรรมร่วมสมัย สร้างสำนึกในการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมทั้งสร้างแหล่งเรียนรู้ปลูกฝังจิตสำนึก ให้แก่เยาวชนรุ่นลูกๆ หลานๆ ได้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมต่อๆ กันไป โดยการนำร่องที่เด็กนักเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและนักเรียนในสถานศึกษาของเทศบาลตำบลนครชุม บรรยากาศการแสดงและรับประทานอาหารแบบย้อนยุค มีการสร้างบรรยากาศเสมือนจริง โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมชมกิจกรรมภายในงานสามารถนั่งรับประทานอาหารแบบดั้งเดิม มีการนั่งรับประทานอาหารโบราณที่หาทานได้ยากมีการละเล่นพื้นบ้าน บรรยากาศ?สานศิลป์ ดนตรีไทย? รูปแบบการบรรเลงเครื่องสายหรือบรรเลงดนตรีไทย วงดนตรีลูกทุ่ง สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมงานสำนึกในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย จุดประกายให้เกิดความต่อเนื่องเพื่อให้เป็นงานของชุมชน สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจชุมชนให้ดีขึ้น สามารถก้าวไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม
  
     นอกจากนี้ นครชุมยังมีเรื่องราวและร่องรอยของสถานที่ซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองมาแล้ว ตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัยตอนต้น เห็นได้จากลักษณะของกำแพงเมืองเก่า ป้อมทุ่งเศรษฐี วัดวาอาราม ที่ยังคงปรากฏให้เห็นซากถาวรวัตถุความเจริญรุ่งเรืองในอดีต มีโบราณสถานที่สำคัญ รวมถึงเป็นแหล่งกำเนิดพระซุ้มกอ หนึ่งในพระเครื่องชุดเบญจภาคีที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มีคลองสวนหมาก ที่เป็นลำน้ำสายหลักเสมือนเป็นเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงของคนในชุมชน เหตุที่เรียกว่าคลองสวนหมาก เนื่องจากต้นน้ำลำธารอุดมไปด้วยป่าหมาก ลำคลองสวนหมากเชื่อมต่อกับแม่น้ำปิงลำเลียงไม้สักและไม้เบญจพันธ์ล่องขายในจังหวัดนครสวรรค์และกรุงเทพ มีบ้านเรือนไม้โบราณอายุกว่าร้อยปี ที่ทำการค้าไม้ในอดีต พร้อมเรื่องราวของพะโป้ ผู้บูรณะและนำยอดฉัตรจากเมืองมะละแม่ง ประเทศพม่า มาประดิษฐานไว้บนยอดพระบรมธาตุนครชุม สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ชาวนครชุม นอกจากนี้พะโป้หรือนายฮ้อยพะโป้ พ่อค้าไม้คนสำคัญของเมืองกำแพงเพชรในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชรในปี ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449) ก็ยังทรงมีพระราชหัตถเลขาไว้ว่า ?...เลยไปคลองสวนหมาก ในคลองนี้น้ำไหลเชี่ยว แต่น้ำใส เพราะเป็นลำห้วย ถ้าไปตามลำคลอง 3 วัน จนถึงป่าไม้ ป่าไม้นี้พะโป้กะเหรี่ยงในบังคับอังกฤษเป็นคนทำ? การทำกิจการค้าไม้ ทำให้มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายวัฒนธรรมมาอาศัยอยู่รวมกัน เช่น ไทย ลาว มอญ กระเหรี่ยง จีน ฯลฯ เกิดการประสมประสานวัฒนธรรม ที่เด่นชัด เป็นวิถีวัฒนธรรมนครชุม ตามที่นักเขียนชื่อดัง ครูมาลัย ชูพินิจ บ้านอยู่ริมคลองสวนหมาก ผู้เกิดและเติบโตจากตำบลนครชุม แต่สามารถไปมีชื่อเสียงในเมืองกรุง เช่น ล่องไพร แผ่นดินของเรา ชั่วฟ้าดินสลาย โดยเฉพาะเรื่องทุ่งมหาราช เป็นหนังสือเลือกอ่านนอกเวลา 1 ใน 100 เล่มหนังสือดีที่ควรอ่าน จึงเป็นความภาคภูมิใจยิ่งของชาวนครชุมและชาวกำแพงเพชร ที่มีนักเขียนที่ยิ่งใหญ่
       ตลาดนครชุม จึงเป็นแหล่งรวมของอาหารที่มีลักษณะโดดเด่นสามารถจะพัฒนาเป็นกิจกรรมทางการท่อง    เที่ยวได้โดยใช้อาหารเป็นสื่อ ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวรู้จักและเข้ามาแลกเปลี่ยน รับรู้วิถีถิ่นและ เรียนรู้วิถีของการ  ดำเนินชีวิตที่รักษาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมของประชาชนในชุมชนและเนื่องจาก  ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างและค้าขาย เนื่องจากปัจจุบันไม่มีทรัพยากร ธรรมชาติอื่นใด ที่จะเอื้อ  อำนวยให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน นอกจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน ขนบธรรมเนียมประเพณี มรดก  ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น และการค้าขายที่เป็นอาชีพหลักของประชาชนในชุมชน เห็นได้จากเทศกาลงานประจำปี  ประเพณีสำคัญๆ ของจังหวัดกำแพงเพชร ชาวนครชุม จะได้รับเกียรติให้มีส่วนร่วมในการจัดการแสดงและจำหน่าย  อาหารพื้นบ้านเสมอๆ เป็นการนำวัฒนธรรมท้องถิ่นและอาหารพื้นบ้านที่พ่อค้า-แม่ขายแต่งกายย้อนยุค เข้าร่วมในกิจกรรมงานประเพณี และสืบเนื่องจากพื้นที่เขตเทศบาลตำบลนครชุม
    
บริเวณตลาดนครชุมเป็นศูนย์กลางการค้า ย่านธุรกิจ ที่มีการค้าขายเจริญรุ่งเรืองครั้งในอดีต ดังนั้น การรื้อฟื้น ปรับสภาพวิถีชีวิตของคนในชุมชน อาคารบ้านเรือนโบราณ ให้กลับคืนสภาพดั้งเดิมมากที่สุด โดยอาศัยความโดดเด่นด้านมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ของความเป็นชุมชนดั้งเดิม พร้อมจัดสถานที่บริเวณดังกล่าวเป็น ตลาดย้อนยุค หนุนเสริมเศรษฐกิจที่พอเพียงแก่ประชาชน จุดประกายให้ชาวตำบลนครชุม ใช้ศิลปวัฒนธรรม โบราณสถาน ทุนทางสังคมที่มีอยู่ สร้างเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดกำแพงเพชร
ขอบคุณอ้างอิง
   ๑.sunti-apairach.com/02/02U.htm
   ๒. http://sunti-apairach.com/book/book1pdf/booksec1_013.pdf
   ๓. http://sunti-apairach.com/book/book1pdf/booksec1_02.pdf
   ๔. http://sunti-apairach.com/book/book1pdf/booksec1_03.pdf
   ๕. http://sunti-apairach.com/book/book1pdf/booksec1_05.pdf
   ๖. http://www.nakhonchum.com/?name=news&file=readnews&id=89

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 28, 2014, 11:01:18 am โดย apairach » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!