This text will be replaced
ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ตำบลจันเสน
เมืองจันเสนเป็นเมืองนครโบราณสมัยทวาราวดีตอนต้น ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พัฒนาขึ้นมาจากชุมชนสมัยโลหะตอนปลาย มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว นับว่าเป็นชุมชนแรกเริ่มในสุวรรณภูมิที่มีการติดต่อกับอินเดีย ร่วมสมัยกับเมืองอู่ทองในลุ่มน้ำท่าจีน และเมืองฟูนันใกล้ปากแม่น้ำโขง ดังเห็นได้จากโบราณวัตถุที่เป็นตราดินเผา เศษภาชนะประดับลวดลาย ลูกปัดและเครื่องประดับที่เหมือนกับที่พบในอินเดียและแคว้นฟูนัน การติดต่อกับอินเดีย ทำให้จันเสนเป็นชุมชนที่นับถือพระพุทธศาสนา แต่แรกเริ่มดังจะเห็นได้จากการสร้างรูปเคารพ และของสิริมงคลต่าง ๆ ทั้งยังมีซากสถูปเจดีย์อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ สร้างขึ้นไว้บูชา เมืองจันเสนเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ชายลำน้ำใหญ่ที่ไหลมาจากเมืองละโว้ และต่อเนื่องขึ้นไปจนถึงเมืองล่าง และเมืองบนในเขตชัยนาท และนครสวรรค์ ต่อมาทางน้ำได้ตื้นเขินทำให้เส้นทางคมนาคมเปลี่ยน เมืองจันเสนจึงร่วงโรยไปเช่นเดียวกับเมืองโบราณอีกหลายแห่ง ในลุ่มแม่น้ำแห่งนี้ จันเสนกลับกลายเป็นชุมชนขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อมีการคมนาคมทางเรือไฟ เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ ทำให้ผู้คนจากสถานที่ต่าง ๆ ในละแวกไกลและใกล้ เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำไร่ ทำนา เกิดวัด บ้าน ตลาดโรงสี ความสำคัญของจันเสนในเรื่องความเก่าแก่ ปรากฏขึ้นเมื่อมีการค้นพบเมืองโบราณจันเสนจากภาพถ่ายทางอากาศ ที่มีผลนำไปสู่การขุดค้นทางโบราณคดีอย่างมีระบบ เป็นแห่งแรกในประเทศไทย แต่เมื่อขุดเสร็จแล้ว เมืองโบราณจันเสนก็ถูกทอดทิ้งเช่นเดิม จนหลวงพ่อโอดได้มาฟื้นฟูขึ้น ซากเมืองดั้งเดิมนั้นไม่เหลือให้ชม คงเหลือแต่ "บึงจันเสน" นอกเมืองโบราณที่ใช้กักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามแล้งมาตราบเท่าทุกวันนี้ ส่วนโคกจันเสนหรือเมืองโบราณจันเสนคงเหลือโคกอยู่ในดงไม้ เมืองจันเสน ทั้งเมือง เมื่อถูกขุดค้นขึ้นมา พบโบราณวัตถุอย่างมากมาย หลวงพ่อโอด มีดำริที่จะสร้างมหาธาตุเจดีย์ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน จันเสน ภายในพระมหาเจดีย์จัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์ แสดงเรื่องราวของเมืองจันเสนในอดีต หลวงพ่อเจริญได้สืบต่อเจตนารมณ์ของหลวงพ่อโอด จึงเกิดพิพิธภัณฑ์จันเสน เมื่อปี 2539 จุดเด่นของพิพิธภัณฑ์อีกประการหนึ่งคือ การสร้างเยาวชน ให้เป็นมัคคุเทศก์ นำชมได้อย่างน่าชื่นชม พิพิธภัณฑ์จันเสน เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของนครสวรรค์เลยทีเดียว ที่วัดจันเสน มีกลุ่มสตรี ทอผ้าด้วยกี่กระตุก มีรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ทำได้อย่างครบวงจร ศูนย์วัฒนะรรมไทยสายใยชุมชนตำบลจันเสน จึงเป็นตัวอย่างของ ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ที่เข้มแข็งและสมบูรณ์ ไม่แพ้แห่งใดในประเทศไทย คณะ ทัศนศึกษาสัมมนาศิลปินพื้นบ้านกำแพงเพชรของเรา ได้เข้าเยี่ยมชม ศูนย์วัฒนธรรมไทย สายใยชุมชนอย่างละเอียด โดยได้รับการต้อนรับจากสภาวัฒนธรรมตำบลจันเสน และสภาวัฒนธรรมอำเภอตาคลีอย่างอบอุ่นที่สุด พระครูนิวิฐธรรมขันธ์ หรือหลวงพ่อเจริญ ได้ต้อนรับขับสู้และให้เกียรติ คณะสัมมนาทางวัฒนธรรมอย่างมาก นำคณะของสภาวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร ที่นำโดย อาจารย์สันติ อภัยราช ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัด ร่วมกับ ศูนย์การศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดกำแพงเพชร ไ ด้ชมศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำลบลจันเสนอย่างคุ้มค่าที่สุด นับว่าศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลจันเสน มีคุณค่าอย่างลึกซึ้งต่อการพัฒนา ทางสังคมและวัฒนธรรม ต่อเนื่องมาโดยตลอด สมกับ คำขวัญประจำตำบลจันเสนที่ว่า พระมหาธาตุเจดีย์งามโดดเด่น จันเสนเมืองโบราณ ตำนานหลวงพ่อโอด ของฝากแสนโปรดผ้าทอมือ ลือชื่อรสเด็ดนางเล็ดกรอบอร่อย สันติ อภัยราช